ประชุมครม.ช่วยเหลือเอสเอ็มอี/เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

17 มกราคม 2560, 07:20น.


ในวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล มีวาระน่าสนใจ คือ การจัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี 2 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความเข้มแข็ง และสามารถสร้างผู้ประกอบการในทุกกลุ่มจังหวัดตามนโยบายการพัฒนากลุ่มจังหวัดของรัฐบาล



นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าเป็นการขอใช้งบกลาง จากสำนักงบประมาณ ซึ่งกองทุนอยู่ในความดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม



นางโดนิกา พอตตี เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ที่ทำเนียบรัฐบาล



นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรัฐบาลรับมอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้จากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี



ส่วนที่รัฐสภาวันนี้ มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ประชุม สนช. และประชุม คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.



ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่าแนวทางการสร้างความปรองดองตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต้องก้าวผ่านความขัดแย้งทั้งเรื่องของประชาธิปไตย และการแบ่งสี และกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไม่ได้มุ่งแสวงหาประโยชน์และไม่ได้สืบทอดอำนาจ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคี ปรองดอง (ปยป.) จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่ดี โดยที่ประชาชนต้องรับรู้ รับทราบ



ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้มีการตั้งกรรมการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติเพิ่มเข้าไปอีก 1 คนคือ นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กนธ.) รวมขณะนี้มีทั้งสิ้น 11 คน นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งให้นายปกรณ์ นิลประพันธ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขานุการ เป็นเลขานุการคณะกรรมการ โดยจะประชุมกันครั้งแรกในวันนี้ เพื่อเตรียมแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ โดยคณะกรรมการจะใช้เวลาแก้ไขให้เร็วกว่า 15 วัน เผื่อเวลาให้กองอาลักษณ์เขียนลงในสมุดไทย รวมกระบวนการทั้งหมดนายกฯจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติกลับคืนมา



วันนี้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ เข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อหารือเรื่องโครงสร้างของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง



ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 16-20 มกราคม มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง จึงให้เพิ่มการเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม



นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้คลี่คลายแล้ว 6 จังหวัด แต่ยังคงมีสถานการณ์ใน 6 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และประจวบคีรีขันธ์



นายสงกรานต์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบด้านการเกษตร 12 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง ระนอง สุราษฎร์ธานี นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และประจวบคีรีขันธ์ และมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ด้านการเกษตรที่ได้รับผลกระทบประจำแต่ละอำเภอ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วโดยจะได้รับเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 3,000 บาท ซึ่งทางจังหวัดจะเร่งส่งรายชื่อให้กระทรวงเกษตรฯ เพื่อขออนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป



สำหรับการสำรวจความเสียหายตามหลักเกณฑ์ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรตามระเบียบกระทรวงการคลัง ปี พ.ศ.2556 ซึ่งตามหลักเกณฑ์ กรณีข้าว หากเสียหาย ได้ไร่ละ1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนไร่ละ 1,690 บาท ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบและคาดว่าพื้นที่จะเสียหายถ่ายภาพแปลงเสียหายไว้เป็นหลักฐานด้วย



...

ข่าวทั้งหมด

X