อสส.สั่งไม่ฟ้องหลวงพี่แป๊ะ คดีรถหรู ครอบครองสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่เสียภาษีไม่ครบ

13 มกราคม 2560, 05:03น.


ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึง การสั่งคดีที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวหาพระมหาศาสนมุนี หรือ หลวงพี่แป๊ะ หรือ พระธนกิจ สุภาโว (ธนกิจ ศรีอุ่นเรือน) เลขานุการสมเด็จช่วง และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำฯ กับพวกเอกชนอู่ประกอบรถยนต์ รวม 7 คน กรณีเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์เบนซ์โบราณ คันหมายเลขทะเบียน ขม 99 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถที่อยู่ในความครอบครองของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญญมหาเถร ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ว่า วันนี้อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ มีความเห็นสั่งฟ้องนายพิชัย วีระสิทธิกุล เจ้าของอู่รถยนต์ ผู้ต้องหาที่ 1 , หจก.ซี.ที.ออโต้พาร์ท โดยนายวสุ จิตติพัฒนกุลชัย ที่ 2 , นายวสุ ที่ 3 ในฐานะส่วนตัว ฐานร่วมกันนำของที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษี หรือที่ยังไม่ได้ผ่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งรู้ว่าเป็นของที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษี หรือไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง , ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี และร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จ ,ใช้เอกสารปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม และใช้เอกสารอันเกิดจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชน หรือเอกสารราชการ ตามพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 และ 27 ทวิ , พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 165 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 268 ประกอบมาตรา 83 และ 91 

และยังสั่งฟ้อง นายเกษมศักดิ์ หรืออ๊อด ภวังคนันท์ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.อ๊อด 89 เอ็นเตอร์ไพร์ส (ประเทศไทย) ซึ่งนำเข้าชิ้นส่วนรถโบราณ ผู้ต้องหาที่ 4 ฐานร่วมกันนำของที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษีฯเข้ามาในราชอาณาจักร ,ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี และร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จ, ร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ,ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม และใช้เอกสารที่เกิดจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จฯ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 และ 27 ทวิ , พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ มาตรา 165 และประมวลกฎหมายอาญา 264 , 265 , 267, 268 ประกอบมาตรา 83 และ 91   

ส่วนเมธีนันท์ หรือชลัช นิติฐิติวงศ์ ผู้ต้องหาที่ 5 สั่งฟ้องด้วยข้อหาร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี และร่วมกันแจ้งจดข้อความอันเป็นเท็จฯ ,ร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ,ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม และใช้เอกสารที่จดข้อความอันเป็นเท็จฯ ตามพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ มาตรา 165 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265 , 267 , 268 ประกอบมาตรา 83 และ 91 กับสั่งฟ้อง นายสมนึก บุญประไพ ผู้ต้องหาที่ 6 ฐานร่วมกันแจ้งจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ, ร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม, ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม และใช้เอกสารอันเกิดจากการแจ้งจดข้อความอันเป็นเท็จ ตามประมวลอาญา มาตรา 264, 265, 267, 268 ประกอบมาตรา 83 และ 91  โดยสั่งไม่ฟ้อง พระมหาศาสนมุนี หรือหลวงพี่แป๊ะ เลขานุการสมเด็จช่วงและผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำฯ ผู้ต้องหาที่ 7 ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่เสียภาษีไม่ครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ มาตรา 161 เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานใดพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาที่ 7 รับรถยนต์ไว้โดยรู้ว่านายวิชาญเสียภาษีสรรพสามิตไม่ถูกต้อง และสั่งยุติการดำเนินคดีกับ นายเกษมศักดิ์ ผู้ต้องหาที่ 4 , นายเมธีนันท์ ผู้ต้องหาที่ 5 และนายสมนึก ผู้ต้องหาที่ 6 ฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 เนื่องจากคดีขาดอายุความ และให้ยุติการดำเนินคดีกับ พระมหาศาสนมุนีหรือหลวงพี่แป๊ะ ผู้ต้องหาที่ 7 ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่เสียภาษีไม่ครบถ้วน ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ มาตรา 161 (1) กรณีครอบครองรถโบราณช่วงแรก เนื่องจากคดีขาดอายุความ   



ร.ท.สมนึก กล่าวว่า หลังจากพนักงานอัยการมีคำสั่งดังกล่าวแล้วก็ได้นำตัวนายเมธีนันท์ และนายสมนึก ผู้ต้องหาที่ 5-6 ซึ่งได้รับการประกันตัวและมารายงานตัวต่ออัยการในวันนี้ ไปยื่นฟ้องเป็นจำเลย พร้อมกับนายเกษมศักดิ์ ผู้ต้องหาที่ 4 ซึ่งขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ต่อศาลอาญาแล้ว โดยศาลประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีอาญาหมายเลขดำ อ.83/2560 ส่วนนายพิชัย ผู้ต้องหาที่ 1, หจก.ซี.ที.ออโต้พาร์ท โดยนายวสุ ผู้ต้องหาที่ 2 และนายวสุ ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้ต้องหาที่ 3 ได้ขอเลื่อนนัดการส่งตัวฟ้อง เนื่องจากยังจัดหาหลักทรัพย์ที่จะใช้ยื่นประกันตัวในชั้นศาล และยังจัดหาทนายได้ไม่พร้อม ซึ่งพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 ได้นัดผู้ต้องหาที่ 1-3 มาเพื่อนำตัวยื่นฟ้องต่อศาลอาญาอีกครั้งในวันที่ 10 ก.พ. แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องพระศาสนมุนี ผู้ต้องหาที่ 7 แต่ตามขั้นตอนจะต้องส่งสำนวนและความเห็นสั่งไม่ฟ้องนี้ให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พิจารณาทำความเห็นว่าจะเห็นแย้งกับคำสั่งคดีของอัยการที่สั่งไม่ฟ้องนี้หรือไม่ หากดีเอสไอยืนยันความเห็นให้ฟ้องก็จะต้องส่งสำนวนกลับมาให้อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาดตามกฎหมายต่อไป 



แฟ้มภาพ

ข่าวทั้งหมด

X