ความเสียหายน้ำท่วมหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าได้ประเมินผลกระทบความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ น่าจะมีมูลค่าความเสียหาย 15,000-20,000 ล้านบาท ผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือเกษตรกร นักท่องเที่ยว โรงงาน และภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ระบบโลจิสติกส์ ที่กระบวนการขนส่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก และ ต้องใช้ระยะเวลาในการเยียวยาให้กลับมาเหมือนเดิม ส่วนสินค้าได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ยางพารา แม้ว่าขณะนี้บางพื้นที่น้ำเริ่มลดแล้ว แต่ยังห่วงพื้นที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพราะน้ำยังสูง คาดว่าภายใน 1-2 เดือน สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย และกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ลำดับแรก ภาครัฐ ต้องเร่งฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากไม่มีสินค้าอุปโภค บริโภค น้ำดื่ม รวมถึงต้องเข้าไปดูแลภาคเกษตร เร่งซ่อมแซมถนนที่เสียหายโดยเร็ว เพราะมีผลโดยตรงต่อกระบวนการโลจิสติกส์ และการขนส่งสินค้า ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ก็ต้องเร่งเยียวยา โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เนื่องจากได้รับความเสียหายจากอุทกภัยไปจนถึงภาคการท่องเที่ยวด้วย ที่ต้องเร่งฟื้นฟูให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว มั่นใจว่า จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีมูลค่าปีละ 13-14 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐตระหนัก คือ การลงทุนแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ระยะยาว โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น โครงการแก้มลิงตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะพื้นที่ภาคใต้เกิดน้ำท่วมทุกปี อีกทั้ง ยังมีสิ่งปลูกสร้างที่ขวางทางน้ำจำนวนมาก ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเกิดเป็นปัญหาที่กระทบต่อเศรษฐกิจแบบนี้ทุกปี
แฟ้มภาพ