หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยใน 12 จังหวัดทางภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดพัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ แบ่งเป็น 2 มาตรการย่อย ประกอบด้วย มาตรการภาษีเพื่อจูงใจ ให้มีการบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยกำหนดให้ ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่บริจาคเงิน ระหว่าง 1 ม.ค. - 31 มี.ค. ผ่านหน่วยงานราชการ โครงการ หรือตัวแทน ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากร สามารถนำเงินมาลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า โดยหากเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะใช้ได้เฉพาะกรณีการบริจาคเงินเท่านั้น และ เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้ หลังหักใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลจะสามารถลดหย่อนได้ทั้ง เงินและทรัพย์สินแต่เมื่อรวมกับรายจ่ายการกุศลของสาธารณะแล้ว จะต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ส่วนอีกมาตรการคือ การขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ ชําระภาษีอากร โดยขยายเวลาการยื่นแบบเสียภาษีอากร ให้กับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย 12 จังหวัด ที่จะต้องยื่นในเดือนมกราคม- เดือนกุมภาพันธ์2560 สามารถนำไปยื่นได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560
ด้านนายกอรปศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมความโปร่งใส ในการก่อสร้างภาครัฐรวมทั้งเห็นชอบในหลักการของแนวทางการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการก่อสร้างของภาครัฐ โดยให้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและในกรณีพบปัญหาสามารถที่จะเรียกร้องเอาผิดกับผู้รับผิดชอบได้ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะดูแลทั้งโครงการของรัฐวิสาหกิจ ราชการและหน่วยงานของภาครัฐ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ร่วมกับคณะกรรมการ 15 ค นซึ่งหลักเกณฑ์ของโครงการก่อสร้างที่จะต้องได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการ คือ โครงการที่มีวงเงินงบประมาณ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และโครงการที่มีความสำคัญส่งผลต่อสาธารณะชนวงกว้าง โดยโครงการที่เข้าหลักเกณฑ์ จะต้องเปิดเผยข้อมูลตลอดเวลาโดยไม่ต้องมีการร้องขอ ซึ่งจะเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง ถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญของโครงการจัดซื้อจัดจ้างในประเทศไทย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการปรับปรุงขยายประปาส่วนภูมิภาคขอนแก่น- น้ำคลอง และ การประปาส่วนภูมิภาค พัทยา-แหลมฉบัง-ศรีราชา เนื่องจากทั้งสองแห่ง เป็นพื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง ทำให้ประสบปัญหากำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอ โดยทั้งสองโครงการจะใช้งบประมาณปรับปรุงในวงเงิน 5,621 ล้านบาท โดยโครงการปรับปรุงขยายประปาส่วนภูมิภาคขอนแก่นน้ำคลอง วงเงินปรับปรุง 2,227 ล้านบาท ส่วนโครงการประปาส่วนภูมิภาคพัทยา-แหลมฉบัง-ศรีราชา มีวงเงิน 3,393 ล้านบาท ซึ่งเมื่อโครงการเสร็จสิ้น คาดว่าจะสามารถให้บริการให้มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 ราย