การอำนวยความสะดวกให้ประชาชนตรวจสอบกล้องวงจรปิดกรณีเหตุด่วนเหตุราย ในวันนี้พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดและเยี่ยมชมศูนย์บริหารจัดการกล้องโทรทัศน์วงจรปิดสำนักงานเขตบางบอน พลตำรวจเอกอัศวิน กล่าวว่า การเปิดศูนย์ดังกล่าว เพื่อรองรับการให้บริการและอำนวยความสะดวกประชาชนในการสืบค้นข้อมูล การบันทึกภาพเหตุการณ์ตลอด24ชั่วโมง จากกล้องวงจรปิดได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งกรุงเทพมานครให้ความสำคัญกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก จึงได้ดำเนินการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดจำนวนทั้งสิ้น 53,249 กล้อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่เสี่ยงภัยจะติดตั้งมากกว่าปกติ แบ่งเป็น14,945กล้องเชื่อมโยงสัญญาณภาพจากสำนักงานเขต50เขต และสถานีตำรวจนครบาล88แห่ง มายังศูนย์ควบคุมระบบจราจรของศาลาว่าการกรุงเทพมหานครบริเวณเสาชิงช้า ส่วนอีก 38,404กล้อง เป็นกล้องแบบstand alone ที่บันทึกเหตุการณ์และสามารถขอดูได้จากจุดติดตั้ง ซึ่งจากสถิติการขอสำนวนภาพกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตั้งแต่ปี 2551 - 2559 มีแล้วกว่า35,736 ราย

ประชาชนต้องเดินทางไปขอใช้บริการที่ศาลาว่ากลางกรุงเทพมหานครทำให้เกิดความไม่สะดวก เสียเวลา จึงได้ขยายศูนย์บริหารจัดการกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพิ่มอีก 12 ศูนย์ รอบกรุงเทพมหานครแบ่งเป็น 6 กลุ่มเขต คือ กลุ่มกรุงเทพเหนือ ที่เขตจตุจักรและเขตบางเขน, กลุ่มกรุงเทพกลาง ที่เขตห้วยขวางและเขตราชเทวี ,กลุ่มกรุงเทพใต้ที่เขตพระโขนงและเขตบางคอแหลม กลุ่มกรุงเทพตะวันออกที่เขตมีนบุรีและเขตบึงกุ่ม, กลุ่มกรุงธนเหนือที่เขตบางพลัดและเขตจอมทอง,กลุ่มกรุงเทพใต้ที่เขตบางบอนและเขตราษฎร์บูรณะ โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และขณะนี้ศูนย์บริหารจัดการกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเขตบางบอนพร้อมเปิดให้บริการแล้วโดยใช้งบประมาณทั้งหมด295,650,000บาท หลังจากนี้จะทยอยเปิดที่ศูนย์ในเขตอื่นๆต่อไป

สำหรับขั้นตอนการขอภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด จะต้องมีเหตุผลและแจ้งความประสงค์ด้วยตนเอง หรือ ทางโทรศัพท์ พร้อมระบุหมายเลข เสา,ตู้ควบคุม,กล้อง และวัน เวลา สถานที่เกิดเหตุ รวมถึงต้องมีหลักฐานการติดต่อขอรับภาพ คือ บันทึกประจำวันหรือ หนังสือของสถานีตำรวจนครบาลพื้นที่ ,สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน, ส่วนกรณีที่มอบอำนาจนั้น ต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ของผู้มอบและผู้รับมอบมาด้วย