การเร่งระบายน้ำในพื้นที่ภาคต้ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติการเกษตร(วอร์รูม) ว่า ได้เร่งรัดกรมชลประทานวางแผนเร่งผลักดันน้ำท่วมขังในเขตเมืองและหลายอำเภอในจ.นครศรีธรรมราช ออกสู่ทะเลมากที่สุด ซึ่งมีปริมาณน้ำมากถึง 1 พันล้านลบ.ม. มีความจำเป็นเร่งต้องผันน้ำออกให้ได้มากกว่าวันละ 160 ล้านลบ.ม. โดยให้เพิ่มจำนวนเครื่องสูบน้ำอีก 30-40 เครื่อง โดยให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันนี้(9 ม.ค.) เพื่อให้มีพื้นที่สามารถรองรับน้ำก้อนใหญ่ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามาในอีก 2 วันข้างหน้า จากอ.เคียนซา จ.สุราษฐ์ธานี มาที่จ.นครศรีธรรมราช เพื่อป้องกันให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบให้น้อยลงมากที่สุดขณะนี้พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงมากคือพัทลุงและนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องเฝ้าระวังแม่น้ำตาปีที่ปริมาณน้ำสูงระดับตลิ่ง โดยมวลน้ำสูงสุดจะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช ในวันที่ 11 ม.ค.นี้ ทั้งนี้ มวลน้ำที่ไหลมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีจะลงไปพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเข้าในเขตอำเภอเมือง และไหลออกสู่ทะเลทางอำเภอปากพนัง ซึ่งต้องเฝ้าระวังพื้นที่รับน้ำในเขตอำเภอเมืองและอำเภอปากพนัง โดยได้กำชับให้กรมชลประทานระดมเครื่องสูบน้ำลงไปพื้นที่และประสานงานกับทางจังหวัด เพื่อไม่ให้ในเขตอำเภอเมืองเกิดความเสียหายมาก
ส่วนแผนฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย มีพื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ 982,694 ไร่ เกษตรกร 391,568 ราย ขณะที่สวนยางได้รับผลกระทบ 600,000 ไร่คิดเป็น 60,338 ครัวเรือน ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงสำรวจพื้นที่ทั้งยางพารา ปาล์ม ไม้ผล พืชไร่ ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ความเสียหายให้ได้ภายในวันนี้(9 ม.ค.) เพื่อทำแผนฟื้นฟูโดยส่งเจ้าหน้าที่ทั้งในพื้นที่และส่วนกลางในการดำเนินการ ด้านการปศุสัตว์ได้เร่งให้สำรวจว่า ยังมีสัตว์ตกค้างอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมอีกหรือไม่ พร้อมทั้งเฝ้าระวังในเรื่องโรคระบาดสัตว์ที่อาจเกิดขึ้นภายหลังน้ำลดแล้ว
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เสนอเพื่อแก้ไขปัญหาระเบียบการเบิกจ่ายงบประมาณให้การช่วยเหลือของทางราชการที่ล่าช้า เนื่องจากเกรงว่าจะขัดกับระเบียบราชการแล้วตัวเองจะต้องถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ตรวจสอบ ซึ่งต้องมีวิธีการที่ไม่ให้การเบิกจ่ายเงินล่าช้า แต่ต้องสามารถปกป้องเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานได้ด้วย ส่วนจะใช้งบประมาณจำนวนเท่าใดในการช่วยเหลือฟื้นฟูและแก้ไขนั้น ต้องให้เจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหายให้เสร็จสิ้นก่อน เบื้องต้นจะใช้งบประมาณของกระทรวงเกษตรฯ หากไม่พอจะประสานกับทางรัฐบาลเพื่อของบประมาณเพิ่มเติมต่อไป ซึ่งในส่วนของสวนยางพาราจะจ่ายเงินค่าพันธุ์ยางเพื่อปลูกซ่อมต้นละ 30 บาท สำหรับยางอายุไม่เกิน 1 ปี ส่วนยางตายเสียสภาพสวนหรือตายเกิน 20 ต้นต่อไร่ จะจ่ายเงินเยียวยาครัวเรือนละ 3,000 บาท โดยใช้งบประมาณ 398 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนายางพารา.
แฟ้มภาพ