การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันนี้มีการพิจารณาเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมืองเรื่องการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งประชุมลงมติด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 155 ไม่มีผู้ที่ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง 7 เสียง
สำหรับรายงานฉบับนี้ มีเนื้อหาสำคัญคือการปฏิรูปกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายบริหาร แบ่งเป็น ในระบบของสภาผู้แทนราษฎร หรือ วุฒิสภา ส่วนของการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในประเด็นปัญหาต่างๆ เสนอให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองกระทู้ เพื่อพิจารณาคัดเลือกกระทู้ถามที่มีความสำคัญและเป็นปัญหาซึ่งต้องรับการแก้ไขในระดับการบริหารราชการแผ่นดินก่อนเข้าสู่การบรรจุในระเบียบวาระ เพื่อแก้ปัญหากรณีที่ตั้งกระทู้ถามลักษณะที่สนับสนุนหรือประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาล
ขณะที่การขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จากเดิมที่ฝ่ายค้านมีหน้าที่ทำตามสมัยประชุม ต่อไปการอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องมีข้อมูล หลักฐานที่จะสามารถทำให้ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ได้ พร้อมมีหลักฐานที่ต้องสามารถส่งให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบต่อได้ด้วย เพื่อไม่ให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเพียงพิธีกรรม
ในรายงานยังเสนอแนวทางการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ด้วยการปฏิรูปองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญ คือ ปรับกระบวนการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติกำหนดให้มีตัวแทนจากองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาด้วย ดังนั้นควรกำหนดรายละเอียดส่วนตัวแทนขององค์กรอิสระให้ชัดเจนว่าจะเป็นกรรมการชุดเดิม, บุคคลเดิม หรือต่างบุคคลในการสรรหาแต่ละองค์กร เพื่อไม่ให้มีการกำหนดบุคคลไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจกระทบต่อความโปร่งใสและการใช้ดุลยพินิจของกรรมการสรรหาที่มาจากองค์กรอิสระนั้นๆ ได้ ขณะที่คุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระ ที่ระบุให้มีความรับผิดชอบสูง, มีความดีเป็นที่ประจักษ์ ควรกำหนดนิยามและขอบเขตให้ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางและกรอบการคัดเลือกที่ชัดเจนและกรรมการสรรหาสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนั้นควรเปิดกว้างให้ทุกสาขาอาชีพสามารถสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการองค์กรอิสระได้
ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการฯ ยังเสนอให้ใช้มาตรการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของข้าราชการ พนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจรัฐโดยนำแนวทางเดียวกันกับการตรวจสอบฝ่ายการเมืองมาใช้กับราชการ พร้อมกับเสนอให้ปรับอัตราการลงโทษผู้ที่กระทำความผิดในคดีคอร์รัปชั่น ได้แก่ คดีที่สร้างความเสียหายเป็นมูลค่า ไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี, คดีที่สร้างความเสียหายเป็นมูลค่า เกิน 1 ล้านบาท–10 ล้านบาท ให้จำคุก 10 ปี, คดีที่สร้างความเสียหายเป็นมูลค่า เกิน 10 ล้านบาท-100 ล้านบาท จำคุก 20ปี, คดีที่สร้างความเสียหายเป็นมูลค่า เกิน 100 ล้านบาท-1,000ล้านบาท ให้จำคุกตลอดชีวิตและคดีที่สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ให้ลงโทษด้วยการประหารชีวิต โดยบทกำหนดโทษที่กรรมาธิการเสนอ เพื่อให้มีมาตรการป้องกันแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่รุนแรง ชัดเจน ป้องปรามเจ้าหน้าที่ที่คิดทุจริต
พร้อมเสนอให้ข้าราชการต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ตั้งแต่วันเริ่มบรรจุเข้ารับราชการ โดยให้เก็บข้อมูลไว้กรณีถูกกล่าวหากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
อย่างไรก็ตามสมาชิก สปท. หลายคนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องบทกำหนดโทษประหารชีวิตผู้ทุจริต เพราะเห็นว่าเป็นโทษที่ร้ายแรงเกินไป และผู้ที่ทำควรรับโอกาสได้กลับตัว และควรมีการพิจารณาร่วมกันของกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมต่อไป
...
ผสข. ปิยะธิดา เพชรดี