นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าในปี 2560 กระทรวงการคลังจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบด้วยการนำมาตรการที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาปฏิบัติอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามขณะนี้ กระทรวงการคลังยังรอกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม เรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกำหนดซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก สภานิติบัญญัติ (สนช.) เมื่อปลายปี 2559 ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนนี้ โดยมีการกำหนดบทลงโทษจำคุกเจ้าหนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี และให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบโดยจดทะเบียนเป็น “พิโกไฟแนนซ์” (นิติบุคคลปล่อยสินเชื่อรายย่อยภายใต้การกำกับ) ปล่อยกู้คิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี แต่หากยังอยู่นอกระบบต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี เพื่อให้เจ้าหนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนดต้องหมดไป
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่ามีผู้ที่ให้ความสนใจสอบถามเรื่องการจดทะเบียนพิโกไฟแนนซ์จำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ สศค. สำรวจข้อมูลพบว่ามีการปล่อยเงินกู้นอกระบบประมาณ 1 แสนล้านบาท ที่คิดอัตราดอกเบี้ยเกินกำหนด
ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างได้มีประกาศใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราใหม่ นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราใหม่เป็นการปรับขึ้นระหว่าง 5 ถึง 10 บาททุกจังหวัด ยกเว้น 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ระนองและสิงห์บุรี และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป จึงขอฝากไปยังนายจ้างผู้ประกอบการให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง นายจ้างและผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวว่า การพิจารณายึดลำดับความสำคัญเพื่อทดแทนของเก่า โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธในประเทศ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากองทัพบกได้ลงนามซื้อรถถัง วีที-4 จากประเทศจีน ไปแล้ว 28 คัน และจะจัดหาต่อในระยะ 2 จนครบ 1 กองพัน กองพันละ 49 คัน ในปีงบประมาณ 2560 โดยผูกพันงบประมาณ 3 ปี ส่วนรถถังโอพลอต จากยูเครน 49 คัน ซึ่งมีปัญหาเนื่องจากสถานการณ์ภายในประเทศ จะสามารถส่งมอบรถถังทั้งหมด 49 คันให้กองทัพบกไทยได้ครบตามจำนวนได้ในเดือนตุลาคม 2560
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สรุปงบประมาณและปริมาณการกำจัดผักตบชวารวมถึงวัชพืชอื่นในแหล่งน้ำ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2559 รวม 3 หน่วยงานหลักคือ กรมเจ้าท่ากระทรวงคมนาคม, กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย, กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเงิน 834 ล้าน 8 แสน 8 หมื่นล้านบาท ปริมาณผักตบชวาที่กำจัดได้รวม 22 ล้าน 3 แสน 7 หมื่นตัน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลของกรุงเทพมหานคร และกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อสรุปในภาพรวมใช้งบกำจัดผักตบชวา 2,500 ล้านบาท กำจัดได้ปริมาณ 24 ล้านตัน สะท้อนถึงการใช้งบของหน่วยงานไม่มีประสิทธิภาพ ขาดความรับผิดชอบและยังขอใช้งบเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งเห็นว่าการการที่นักวิชาการเห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่ควรมาสนใจเรื่องการกำจัดผักตบชวานั้น ทางผู้ว่าการ สตง.เห็นว่า หากเป็นการใช้งบระดับพันล้านบาทต่อปีก็ไม่ใช่เรื่องเล็กแล้ว โดยในปี 2560 นี้ สตง.จะติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณ รวมทั้งคดีเก่า ๆ อาทิ คลองด่าน ท่อก๊าซปตท.และปตท.จะเอาส่วนบริษัทน้ำมันขายปลีกมาเข้าตลาดหลักทรัพย์
นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลสรุปการดำเนินการเรื่องร้องเรียน และร้องทุกข์ของศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในปี 2559 ว่า มีประชาชนร้องเรียนเป็นรายบุคคลอยู่ที่ 98,139 ราย ส่วนแบบกลุ่มหรือหมู่คณะอยู่ที่ 330 กลุ่ม จำนวน 98,469 เรื่อง โดยแบ่งเป็นเรื่องที่ได้ข้อยุติ 87,843 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 89.21 ส่วนเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการมี 10,626 เรื่อง เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด อันดับ 1 คือ เรื่องสังคมและสวัสดิการ จำนวน 58,368 เรื่อง รองลงมาคือการร้องเรียนกล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐ เศรษฐกิจ การเมือง-การปกครอง กฎหมาย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558
สำหรับพื้นที่ที่มีประชาชนเข้าใช้บริการร้องเรียนมากที่สุด คือ กทม. 22,234 เรื่อง หน่วยงานที่ประชาชนร้องเรียนมากที่สุด คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) 16,646 เรื่อง
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.มมีโครงการ ความร่วมมือลดใช้ไฟฟ้า (Demand Response Rate หรือ DR) ซึ่งอ้างอิงจากความต้องการใช้ไฟฟ้า สูงสุด (พีค) คือ ช่วงระหว่างเวลา 09.00- 22.00 น. จะมีอัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 5.30 บาท ต่อหน่วย ส่วนช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าปกติ (ออฟ-พีค) คือ ช่วงเวลา 22.00-09.00 น. จะมีอัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ ประมาณ 2 บาท ผู้ร่วมโครงการ DR จะต้องพยายามปรับเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าช่วงกลางคืน (ออฟ-พีค) หรือ ช่วงหลังเวลา 22.00 น. โดย กกพ.จะให้ค่าไฟฟ้าลดลงอัตราพิเศษ หรือ ประมาณ 1.60-1.80 บาทต่อหน่วย จากอัตราปกติประมาณ 2 บาทต่อหน่วย เพื่อจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า แต่หากไม่สามารถลดใช้ไฟฟ้าได้ตามปริมาณที่แจ้งไว้กับ กกพ. จะต้องเสียค่าปรับเพิ่มเติม แต่ก่อนที่จะมีการประกาศโครงการจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง
...