ธนาคารกสิกรไทยรายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 3/2559 ชะลอการเติบโตลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.2 เนื่องจากการที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังมากขึ้น เพื่อลดการก่อหนี้ใหม่ของภาคครัวเรือน
สำหรับหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/2559 ปรับลดลงเป็นไตรมาสที่สามติดต่อกันมาที่ระดับร้อยละ 81 ต่อจีดีพี เทียบกับร้อยละ 81.3 ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2559 เนื่องจากการชะลอลงในสินเชื่อรายย่อยหลายประเภท ทั้งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (ซึ่งมีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในหนี้ครัวเรือน) ที่เติบโตเพียงร้อยละ 8 ตามจำนวนที่อยู่อาศัยโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ปรับลดลง เช่นเดียวกับสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคและสินเชื่ออเนกประสงค์ที่เติบโตชะลอลงจากการใช้นโยบายเครดิตที่ระมัดระวังมากขึ้น โดยสินเชื่อบัตรเครดิตยังเติบโตได้จากการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เติบโตดีขึ้น และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ก็อยู่ในแดนบวกเช่นเดียวกับสิ้นปี 2558 แม้ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนจะปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 98,100 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนนับว่าการเติบโตของหนี้ยังคงชะลอลงอย่างต่อเนื่อง อยู่ในระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 และคาดว่าหนี้ครัวเรือนช่วงปลายปีคาดว่าจะพลิกกลับมาขยับขึ้นสู่ระดับร้อยละ 81.5 ต่อจีดีพี จากการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เร่งโอนกรรมสิทธิ์ก่อนปิดปี ผนวกกับการเข้าสู่ฤดูกาลจับจ่ายใช้สอยช่วงท้ายปีของประชาชนที่จะหนุนการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต รวมถึงสินเชื่ออเนกประสงค์อื่นๆ ให้เติบโตดีขึ้นกว่าไตรมาส 3/2559 ที่ผ่านมา
ส่วนแนวโน้มปี 2560 คาดว่าจะทรงตัวหรือขยับลดลงมาที่กรอบคาดการณ์ร้อยละ 80.5-81.5 แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปีหน้าอาจต่ำลง จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(มูลค่าจีดีพีเป็นตัวหารของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี) ที่คาดหวังว่าจะได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐ
..