ในการเสวนาวิชาการ เรื่อง "ประเทศไทยหลัง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2559" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นางอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับการปรับปรุง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2550 แต่การปรับปรุงแก้ไข จะต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งที่ผ่านมากรรมการสิทธิมนุษยชน ได้ทำข้อเสนอแนะไปต่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับการกำหนดบทลงโทษในรายมาตรา และไม่มั่นใจคณะกรรมการที่จะเข้ามาทำหน้าที่วิเคราะห์พิจารณาข้อมูล ว่าข้อมูลใดเป็นจริงหรือเป็นเท็จ เนื่องจากข้อมูลบางอย่างเป็นข้อคิดเห็นซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน นางอังคณา ระบุว่า สนช. ควรคำนึงถึงความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีต่อประชาชน รวมทั้งสิทธิ เสรีภาพ ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนด้วย
ด้านนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (Ilaw) กล่าวว่า ในอดีตมีผู้ที่ติดคุก จากพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์แล้วหลายคน ซึ่งเป็นการปิดปากไม่ให้นำเสนอข้อเท็จจริง หรือวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การนำเสนอวิจัยแรงงานข้ามชาติ, การนำเสนอข้อมูลด้านพลังงาน, การตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ดังนั้น การพิจารณาความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตรวจสอบภาครัฐ
ขณะที่นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เปิดเผยว่า ส่วนตัวติดตามร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้มาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งขณะนั้นร่างพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2550 เลวร้ายกว่าฉบับนี้มาก แต่มีการต่อสู้กันทางข้อกฎหมาย จึงได้รับการปรับเปลี่ยนแก้ไข แต่ในปี 2559 ควรจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ก่อน เนื่องจากมีเสียงต่อต้านเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามในต่างประเทศ ไม่มีการใช้พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ดำเนินคดีกับสื่อมวลชนแล้ว เช่น ประเทศอังกฤษ แต่ในประเทศไทยยังทำเช่นนั้นไม่ได้ โดยยอมรับว่า นำเสนอข่าวในบางครั้ง อาจจะส่งผลให้บางคนหรือบางกลุ่ม เกิดความเสียหาย
...
ผสข.สมจิตร์ พูลสุข