บีบีซี รายงานว่า ธนาคารดอยซ์แบงก์ของเยอรมนี ระบุว่า ธนาคารตกลงจะยอมจ่ายค่าปรับให้กับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯจำนวน 7,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อไกล่เกลี่ยคดีพิพาทเรื่องการขายหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าที่มีคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์กู้ยืม ต้นเหตุของวิกฤติการเงินทั่วโลกเมื่อปี 2551 การจ่ายค่าปรับนี้ ต้องรอการอนุมัติในขั้นสุดท้ายจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารธนาคารก่อน แต่ก็นับว่าต่ำกว่าค่าปรับเดิมคือ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามที่รัฐบาลสหรัฐฯเรียกไปเมื่อเดือนกันยายน การจ่ายค่าปรับดังกล่าว ทำให้หลายคนกังวลว่าความบกพร่องผิดพลาดของธนาคารยักษ์ใหญ่ดังกล่าวเสี่ยงกระทบระบบการเงินทั่วโลก เนื่องจาก มีสาขาธนาคารใน 70 ประเทศทั่วโลก รัฐบาลสหรัฐฯ สอบสวนธนาคารหลายแห่งในสหรัฐฯหลังมีข้อกล่าวหาว่าทำสัญญาจำนองกับผู้กู้หลายรายที่มีคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์การขอสินเชื่อ จากนั้น นำสัญญากู้กลุ่มนั้นไปจัดกลุ่มใหม่ โดยระบุว่า เป็นการลงทุนที่ปลอดภัยแล้วขายต่อให้กับผู้ซื้อรายอื่นๆ การสอบสวนคดีนี้เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาทางธุรกิจระหว่างปี 2548-2550
ด้านธนาคารเครดิต สวิสของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุเช่นกันว่า ตกลงจ่ายเงินให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ 5,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเรื่องนี้กับสหรัฐฯ ในจำนวนค่าปรับทั้งหมด ธนาคารฯจะจ่ายเงินค่าปรับให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ 2,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอีก 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจะจ่ายเป็นค่าชดเชยให้กับลูกค้าในฐานะผู้เสียหาย นอกจากนี้ ธนาคารอื่นๆที่ถูกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯสั่งจ่ายค่าปรับในกรณีเช่นเดียวกันนี้รวมถึงซิตี้กรุ๊ป ซึ่งระบุว่าค่าปรับถูกลดจาก 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเหลือ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทีมต่างประเทศ
CR:BBC