หลังจากสภานิติบัญญํติแห่งชาติ หรือ สนช. ผ่านวาระ3 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในงานเสวนา เรื่อง ก้าวต่อไปของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2559 นางปารีนา ศรีวนิชย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับนี้ ได้มีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนในการแสดงออกความคิดเห็น คุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน และเป็น พรบ. ที่ออกมาด้วยความยากลำบาก เนื่องจากต้องหาจุดสมดุลที่เป็นกลางให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย เพื่อทำให้สังคมอยู่อย่างสงบสุข ที่ผ่านมาประชาชนทุกคนต่างอยากได้เสรีภาพต้องการความมั่นคง ปลอดภัย และไม่ต้องการที่จะถูกละเมิดเรื่องการแสดงความคิดเห็นจากบุคคลอื่น รวมทั้งไม่ต้องการให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุมการแสดงความคิดเห็นของตนเอง แต่อยากให้มองอีกมุมหนึ่งถึงเสรีภาพของผู้ได้รับผลกระทบ จนสูญเสียถึงชีวิต จากการแสดงความคิดเห็นบนสังคมออนไลน์ของคนอื่น จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการที่ทำให้เกิดความเหมาะสม เป็นธรรมทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ต้องการเสรีภาพแสดงความคิดเห็น หรือ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย
สาระสำคัญของ พรบ. ฉบับนี้ ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนกังวล และยังมีส่วนที่ดีในหลายส่วน เช่น การกำหนดโทษไว้ชัดเจนมากขึ้น และมีหลายสิ่งที่ผ่อนลงมากจากฉบับก่อนๆ ส่วนที่หลายๆ คนมีความกังวล ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน รวมทั้งข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน จนอาจกลัวว่าจะถูกระงับข้อมูลนั้น เชื่อว่าหลายคนคงจะไม่สบายใจหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น และโดยส่วนตัวก็หวังว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น อีกทั้งหากมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา อาจทำให้กระบวนการดำเนินคดีเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายด้านคอมพิวเตอร์ มีระยะเวลายาวนานและหลายขั้นตอนมากขึ้น เพราะต้องให้ผู้กระทำความผิดมาชี้แจ้งต่อคณะกรรมการชุดนี้
โดยยังมีส่วนที่เป็นกังวลอยู่คือ มาตรา 20 ที่ระบุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรียื่นคำร้องพร้อมแสดงหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบ ซึ่งเป็นคำถามที่ตามมาว่า พนักงานเจ้าหน้าที่นั้น จะเข้าไปยังข้อมูลของผู้ให้บริการเหล่านั้นได้อย่างไร และจะสามารถรับประกันได้หรือไม่ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปลบข้อมูลจะไม่ลบข้อมูลอย่างผิดพลาด หรือลบข้อมูลเกินความจำเป็น ซึ่งหากเป็นอย่างนั้น ย่อมเกิดความเสียหายต่อข้อมูลอื่นๆ ได้ รวมทั้งจะสามารถแน่ใจได้อย่างไรว่า พนักงานเจ้าหน้าที่จะไม่นำข้อมูลอื่นๆ ในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการออกมาด้วย จึงไม่อยากให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการลบข้อมูล แต่ให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ ที่จะลบข้อมูลด้วยตัวเอง ภายใต้อำนาจของศาล โดยได้เสนอว่า หากผู้ให้บริการไม่ดำเนินการ จึงหาวิธีที่จะเอาผิดผู้ให้บริการรายนั้นๆ ต่อไป