การลงพื้นที่ศึกษาดูงานร่วมกับคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เปิดเผยว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ได้ดำเนินการ มาถึงวันนี้ครบ 34 ปี หลังจากได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ พบว่าสภาพพื้นที่ห้วยฮ่องไคร้ฯ เปลี่ยนไปจากเดิม ที่เป็นหินกรวดแห้งแล้งกว่า 8,500 ไร่ มีการตัดไม้ทำลายป่า ในพื้นที่เป็นพื้นที่ป่าเต็งรังเสื่อมโทรมและเกิดไฟป่าทุกปี และเมื่อฝนตกก็จะชะล้างหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ออกไปทำให้ดินเสื่อมโทรมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงเลือกพื้นที่แห่งนี้เพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากป่าเต็งรังที่ไม่มีคนเหลียวแล กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ต้นไม้เพิ่มมากขึ้นจาก 100 ต้นต่อไร่เป็น 400 ต้นต่อไร่ และมีถึง 290 ชนิดจากแต่เดิมมีเพียง 57 ชนิด ระบบนิเวศน์มีความสมบูรณ์ มีสัตว์ป่ามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกยูงที่มีในศูนย์ 200-300 ตัว และที่สำคัญเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และให้ประชาชนอยู่กับป่าได้
ขณะเดียวกัน มีการป้องกันไฟป่าตามแนวพระราชดำริ โดยหลังสร้างฝายต้นน้ำ ก็จะให้มีการขุดคู ไปตามแนวภูมิประเทศเพื่อกระจายความชุ่มชื้นของดิน ซึ่งนับตั้งแต่นั้น ในพื้นที่ก็ไม่เกิดไฟป่าอีกเลย จึงอยากขยายแนวความคิดนี้ไปทั่วทั้งพื้นที่ภาคเหนือเพื่อแก้ปัญหาหมอกควัน รวมถึงสามารถฟื้นฟู ในเรื่องการเกษตรและการประมง ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้อีกด้วย
นายสุรัช เปิดเผยว่า ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ มีการจำลองศูนย์ศึกษาอันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ 6 แห่ง มาไว้ในพื้นที่ เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน ทั้งนี้ ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ได้เปิดให้ประชาชนเข้ามาศึกษาและเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งแต่ละปี จะมีประชาชนเดินทางเข้ามา 60,000 -80,000คนต่อปี ขณะเดียวกันได้มีการจัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาในด้านต่างๆ 20 ด้าน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 10,000 – 20,000คนต่อปี
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี