การสรุปผลการดำเนินการประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ครบรอบ 1ปี ภายใต้ชื่อ 1 ปี สปท.108 เรื่องการปฎิรูป นำโดยร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท. เป็นประธานแถลง พร้อมด้วยประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้ง 32 ด้าน
ร.อ.ทินพันธุ์ กล่าวว่า สปท.เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำ 5 สาย โดยในระยะ 2ปี มีการปฏิรูปประเทศล่วงหน้าไปแล้ว ทั้งเร่งผลักดันกฎหมายเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้ 183 ฉบับ และกำลังเร่งผลักดันกฎหมายอีก 104 ฉบับ กฎหมายที่ออกมาแล้วคือกฎหมายที่เกี่ยวกับการทุจริต การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ไทยมีพันธะกรณีกับต่างประเทศ รวมทั้งกฎหมายที่สนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ความเป็นธรรม และ ลดความเลื่อมล้ำในสังคม ตลอดจนกฎหมายใหม่ๆตามนโยบายรัฐบาลรวมทั้งคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่เกี่ยวกับการบุกรุกและทำลายทรัพยากรป่าไม้ การกระทำผิดที่เป็นภยันตราย ต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้นอกระบบ
ขณะเดียวกัน ยังมีการปฏิรูปที่รัฐบาลต้องเตรียมการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวมแล้วต้องจัดทำกฎหมาย 57 ฉบับ และไม่ต้องอาศัยกฎหมายอีก 30 เรื่องออกกฏหมายตามนโยบายแผนการปฏิรูปกฎหมายของรัฐบาลและตามความจำเป็นของหน่วยงานต่างอีก 100 ฉบับ โดยเฉพาะมาตรการในการปฏิรูปประเทศ 38 เรื่อง ที่ส่วนมากสอดคล้องตามที่สปท.เสนอรัฐบาลไปแล้ว
ในด้านการเมือง ได้เสนอรายงานแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง พร้อมยังเสนอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อจะได้สอดคล้องกับโรดแมปของรัฐบาล โดยมีข้อเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ขจัดกลุ่มทุนธุรกิจทางการเมือง แก้ปัญหาซื้อสิทธิขายเสียง และบทลงโทษทางการเมืองที่รุนแรง ทำให้นักการเมืองไม่กล้ากระทำผิด เพราะจะได้รับโทษทางอาญา ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การปฏิรูปการเมืองจะสำเร็จได้ จะต้องปฏิรูปนักการเมืองควบคู่ไปด้วย โดยควรต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นทางเลือกใหม่ให้กับประชาชน และพรรคทางเลือกใหม่ ควรต้องเสนอชื่อบุคคลชื่อใหม่ ไม่ใช่นักการเมืองชื่อเดิมๆหรือหน้าเดิมๆ เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการตัดสินใจมากขึ้นด้วย
ขณะที่ ด้านการศึกษา ดำเนินการเสร็จไปแล้ว 3 ฉบับ เป็นเรื่องพ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต และ พ.ร.บ.การประถมศึกษา โดยการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการศึกษา โดยเด็กต้องเชี่ยวชาญตามความถนัดของตน ระบบการศึกษามีกลไกให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วม
ด้านเศรษฐกิจ ได้ดำเนินการเสนอการปฏิรูประบบเกษตร การประกันภัยทางการเกษตร การเสนอร่าง พ.ร.บ.ธนาคาร ที่ดิน การเสนอร่าง พ.ร.บ.การเงินชุมชน ขณะเดียวกันยังเสนอการปฏิรูปเศรษฐกิจชีวิตภาพ และเศรษฐกิจดิจิตอล
ด้านพลังงาน ทำการปฏิรูปพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งกระทรวงพลังงานนำเรื่องนี้สานต่อส่งไปยังคณะรัฐมนตรีโดยขณะนี้ ส่งไปตรวจยังกฤษฎีกา เพื่อรอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ต่อไป ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยจะส่งไปให้ รัฐบาลพิจารณาปรับปรุงส่งต่อไปยัง สนช.เช่นกัน นอกจากนี้ยังทำรายงานปรับปรุงราคาเชื้อเพลิงพื้นฐาน และการปฏิรูปกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ด้านสาธารณะสุข มีการออก พ.ร.บ.จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ
ด้านสังคมการปฏิรูปสัมมาชีพชุมชน ขณะนี้ได้การตั้งสถาบันเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง การจัดการทะเบียนแรงงานข้ามชาติและจุดผ่านแดนถาวร ศูนย์พัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตและศูนย์พัฒนาผู้สูงอายุ ขณะที่ ด้านกีฬา ได้จัดทำแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งครม. เห็นชอบและประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว การบูรณาการสถาบันการพละศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี