การแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ คณะวิทยาการสื่อสาร ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติ สำนักงานปัตตานีและกรุงเทพมหานคร และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ปัตตานี เตรียมจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ในหัวข้อ การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง การไม่ใช้ความรุ่นแรง และการสื่อสารในการแปรเปลี่ยนขับเคลื่อนความขัดแย้ง ระหว่างวันที่ 24-25 ม.ค. 2560 ที่อาคารคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ระยะสองสามปีมานี้ การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งที่ยืดเยื้อของบางประเทศในภูมิภาคเอเชียมีความโดดเด่น น่าสนใจ เช่น กรณีของเนปาล อาเจะห์ ของอินโดนีเซีย หรือมินดาเนา ของฟิลิปปินส์ รวมถึง เมียนมาร์ แสดงให้เห็นว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจำเป็นต้องใช้เวลาและต้องผ่านวงจรวิกฤติและทางตัน รวมถึงกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่การพัฒนาเหล่านี้มักถูกบดบังด้วยความรุนแรงที่ซับซ้อน เนื่องจาก ขบวนการศาสนาสุดโต่งที่เป็นภัยคุกคามทั่วโลก ภาวะประชาธิปไตยถดถอยในหลายภูมิภาค และความท้าท้ายเรื่องอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของมนุษย์และนานาประเทศด้วย สิ่งที่จะแก้ไขปัญหาคือ การพัฒนาแนวทางการเมืองและการไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อจัดการกับความขัดแย้งในระดับรากเหง้าและความรุนแรงที่ยืดเยื้อ รวมถึงแนวทางการสื่อสารในความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การประชุมที่จะเริ่มขึ้น เป็นการสวงหาคำตอบว่ามีปัจจัยอะไรที่เป็นตัวกำหนดให้กลุ่มติดอาวุธเปลี่ยนยุทธ์ศาสตร์การต่อสู้ มาสู่การไม่ใช้ความรุนแรง จะไกล่เกลี่ยปัญหาหรือยุติความขัดแย้งที่แตกต่างอย่างสุดขั้วได้อย่างไร และการสื่อสารจะมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพและการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งได้อย่างไร
ทั้งนี้ การเปิดเวทีจะเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างนักวิชาการไทยและต่างประเทศที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง การประมวลองค์ความรู้ทั้งระดับประเทศและนานาชาติเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง การไม่ใช้ความรุนแรงและการสื่อสาร และการสร้างเครือข่ายนักวิชาการ นักสันติวิธี นักขับเคลื่อนทางสังคม นักพัฒนาองค์กรเอกชน ภาครัฐ และเครือข่ายชุมชนทั้งในระดับท้องถิ่นและต่างประเทศ ผู้สนใจ สอบถามรายละเอียดได้ที่คุณฟารีดา ปันจอร์ อาจารย์นักวิจัย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ โทรศัพท์ /โทรสาร 073-350433 ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ www.pnc2017.com
CR:คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี