*สัตว์แพทย์แถลงสาเหตุการตายของวาฬบรูด้า*

03 กรกฎาคม 2557, 14:48น.


หลังพบซากของวาฬบรูด้า ขนาดใหญ่ ลอยมาติดที่พื้นที่ป่าโกงกาง ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ



รองศาสตราจารย์ สัตว์แพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าจากการผ่าพิสูจน์ยืนยันได้ว่าวาฬบรูด้าตัวนี้ เสียชีวิตผิดธรรมชาติ เนื่องจากวาฬยังสามารถกินอาหารได้ และมีร่างกายค่อนข้างสมบูรณ์ สันนิษฐานว่า สาเหตุการตายเกิดจากสภาวะช็อค เนื่องจากไม่พบเลือดภายในหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจ อาจจะติดอวนของชาวประมง วาฬพยายามสะบัดอวนแต่สะบัดไม่หลุด จนกระแทกหินและจมน้ำ เนื่องจาก พบรอยช้ำใต้ผิวหนัง และบริเวณลำตัว  ขอฝากชาวประมงถ้าพบโลมาหรือวาฬ ช่วยปลดอวน และระวังไม่ให้กระทบช่องหายใจทางด้านบน หรือไม่ควรใช้อวนที่ยาวมากๆ



 ด้านนายนพพล ศรีสุข อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า วาฬตัวดังกล่าวมีอายุไม่เกิน 10 ปี เป็นเพศผู้ ลำตัวยาว 11.27 เมตร น้ำหนักประมาณ 8 ตัน ผิวหนังภายนอกลอกหลุด พบรอยรัดจำนวน 4 รอย ซึ่งรอยรัดที่บริเวณครีบอก 3 รอย เกิดขึ้นก่อนวาฬตาย เพราะพบรอยช้ำบริเวณเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ส่วนรอยรัดบริเวณด้านหลังน่าจะเกิดจากความพยายามนำวาฬเข้าฝั่ง หลังจากที่วาฬตายแล้ว ทั้งนี้ ต้องนำซากไปตรวจละเอียดอีกครั้ง เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ขณะเดียวกันการวางมาตรการป้องกันและดูแลสัตว์ทะเล จะมีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในการสอดส่องดูแลสัตว์เหล่านี้ ทั้งนี้ กรณีที่พบสัตว์ทะเลหายากในบริเวณดังกล่าว เป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเล  โดยเฉพาะวาฬบรูด้าที่ถือเป็นสัตว์ประจำถิ่นอ่าวไทย ตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ ชายฝั่งทะเลจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จนถึงจังหวัดเพชรบุรี ที่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 4-30 กิโลเมตร สามารถพบได้ตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตาม การกำจัดซากวาฬบรูด้า ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะดำเนินการหาวิธีย่อยสลายซากเหล่านี้ต่อไป เช่น อาจมีการนำไปเผา ให้เป็นอาหารของสัตว์ทะเล โดยไม่รบกวนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ข่าวทั้งหมด

X