หลังจากที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปติดตามความคืบหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จ.เชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับเกษตรกรที่อำเภอหางดง จ.เชียงใหม่ เรื่องการหันมาทำนาแบบเปียกสลับแห้ง โดยใช้น้ำจากเขตพื้นที่ชลประทาน จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ได้พูดคุยกับ นายพัด ไชยวงศ์ เกษตรกร อำเภอหางดง จ.เชียงใหม่ เล่าว่า มีแนวคิดการทำนาเปียกสลับแห้ง มาจากการเข้าประกวดกลุ่มผู้ใช้น้ำดีเด่นระดับประเทศ แล้วได้ยินคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ จึงเริ่มสนใจที่จะหันมาศึกษา และเมื่อวิเคราะห์ดู พบว่าพื้นที่นาที่มีน้ำขัง เมล็ดข้าวจะไม่สมบูรณ์ เท่ากับพื้นที่นาที่มีน้ำแห้งสลับกับน้ำขัง โดยได้เริ่มทดลองทำนาเปียกสลับแห้งในพื้นที่นา 7 ไร่ ของตัวเอง ผลที่ได้คือ สามารถขายข้าวได้ไร่ละ 8,000 บาท จากเดิมที่ปลูกแบบปกติขายได้ 5,000 บาท สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยลงได้ จากเดิมใช้ปุ๋ย 50 กิโลกรัมเหลือเพียงแค่ 9 กิโลกรัม รวมทั้งสามารถประหยัดน้ำที่ได้รับมาจากพื้นที่กรมชลประทานอีกด้วย ซึ่งจากเดิมที่เคยปลูกโดยจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำ แต่การทำนาเปียกสลับแห้ง จะใช้น้ำเพียงแค่ 2 ครั้งสามารถที่จะเหลือและแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านใช้ได้ ส่วนข้อดีของการทำนาเปียกสลับแห้งคือ ข้าวไม่มีวัชพืช ต้องการน้ำในการบำรุงรักษา เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น จากเดิมต้องใช้ถึงร้อยละ 40 อีกทั้งลดต้นทุนการผลิตและได้รับผลตอบแทนในราคาที่สูงกว่าปกติ ซึ่งหลังจากนี้ จะให้คำแนะนำกับเกษตรกรผู้สนใจ ที่จะทำนาเปียกสลับแห้งรวมถึงตัวเองนั้น ก็จะหันมาทำนาเปียกสลับแห้งอย่างถาวรกับพื้นที่นาอีก 12 ไร่ ที่เหลือ
นอกจากนี้นายพัด ยังมีแนวคิดทำธนาคารฝากน้ำ ซึ่งเป็นการผันน้ำเมื่อไม่ใช้ไปเก็บไว้ยังเขื่อนแม่งัด และเมื่อต้องการน้ำจะค่อยปล่อยลงมา ส่วนกระบวนการของการทำนาเปียกสลับแห้ง นายพัดเล่าให้ฟังว่า จะมีการดำนาปกติ รออายุข้าวครบ 15 วัน จึงค่อยรดน้ำ หลังจากนั้นอีก 15 วันก็ทำการปล่อยน้ำ และรอจนกว่าน้ำจะแห้งสนิท จึงค่อยโรยปุ๋ย ซึ่งก็จะทำให้ประหยัดปุ๋ยเนื่องจาก นาแห้ง ปุ๋ยก็จะไม่ละลาย โดยนายพัด กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตัวเองนั้น เป็นแนวคิดที่นำมาใช้อยู่เสมอ และอยากให้เกษตรกรคนอื่นๆนำไปปฏิบัติตาม
ผู้สื่อข่าว: เกตุกนก ครองคุ้ม