การลงพื้นที่เพื่อติดตามการศึกษาความเหมาะสมในการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในจุดของโครงการนี้ เป็นฝายทดน้ำที่ส่งน้ำไปใช้เพื่ออุปโภคบริโภคตามพื้นที่ต่างๆ ในตัวเมืองเชียงใหม่ โดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง พัฒนามาแล้วกว่า 50 ปี หัวใจหลักของโครงการคือมีตัวฝายอยู่ในลำน้ำแม่แตง โดยลำน้ำแม่แตงนี้ เป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำปิง ที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีคลองชลประทาน คอยส่งน้ำไปในพื้นที่ กว่า 850,000 ไร่ บริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำปิง แต่ขณะนี้พื้นที่ที่เคยส่งน้ำได้เปลี่ยนสภาพจากพื้นที่เกษตรไปเป็นพื้นที่ชุมชนเมือง ทำสวนผลไม้ ทำให้เหลือพื้นที่เกษตรไม่ถึง 100,000 ไร่ รูปแบบการใช้น้ำเปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องมีความมั่นคงมากขึ้น
กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีแผนที่พัฒนาด้วยการปรับปรุงแหล่งส่งน้ำให้สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอย โดยยกเครื่องและพัฒนาโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงใหม่ ด้วยการปรับปรุงด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านการบริหารจัดการ โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ อาทิ ใช้ระบบการควบคุมประตูเปิด ปิดน้ำระยะไกล ติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝน เพื่อให้ทราบการไหลเข้ามาของน้ำ ด้านเกษตรกรต้องมีการปรับตัว โดยรวมกลุ่มกัน ร่วมคิด พัฒนาเสนอความเห็น เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมทั้งปรับปรุงด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อาจยังไม่พัฒนาให้มีความทันสมัย นำเทคโนโลยีการผันน้ำให้แก่เกษตรกร หาพื้นที่ฝากน้ำ เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น
รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า จะต้องนำแผนดังกล่าวไปพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ก่อนลงมือดำเนินการตามกรอบเวลา 8 เดือน มั่นใจว่า จะสามารถพัฒนาตามแผนได้ หลังปรับปรุงเสร็จสิ้น คาดว่า จะมีการบริหารจัดการน้ำที่ดีขึ้น ทำให้ประหยัดน้ำใช้ในทางการเกษตร สร้างเสถียรภาพของน้ำให้สามารถผันน้ำไปใช้ที่อื่นหรือกักเก็บน้ำไว้ได้ แก้ปัญหาน้ำท่วมบริเวณเชิงเขาดอยสุเทพได้ ด้วยการบริหารจัดการ และทำให้ลดพื้นที่น้ำท่วม รวมทั้งสามารถขับไล่น้ำเสียตามชุมชนต่างๆ ในตัวเมืองเชียงใหม่ หลังจากนั้นในช่วงบ่ายนี้ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปพบปะพูดคุยกับเกษตรกรบริเวณพื้นที่เพาะปลูกอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม