ปลัดกทม.คาดใช้เวลาสร้างอุโมงค์ลอดแนวถ.รัชดาฯ 2 ปี เปิดใช้ 9 ก.พ.2562

22 พฤศจิกายน 2559, 19:29น.


ที่สะพานข้ามแยกรัชโยธิน บริเวณหน้าเอสซีบีพาร์ค รัชโยธิน เขตจตุจักร นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจการรื้อสะพานรัชโยธิน เพื่อก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทดแทนแนวสะพานเดิม และก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วน(เหนือ)ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตนายภัทรุตม์ กล่าวว่า กทม.มีความเป็นห่วงด้านการจราจร เพราะแยกรัชโยธิน เป็นแยกที่การจราจรหนาแน่นเป็นอันดับที่ 3 ของกรุงเทพฯ รองจากแยกลาดพร้าวและแยกสุทธิสาร อีกทั้งเป็นสะพานที่สำคัญของวงแหวนรัชดาภิเษก และมีจุดตัดถนนพหลโยธิน ทำให้มีปริมาณรถสะสมบริเวณแยกรัชโยธิน เฉลี่ย 200,000 คันต่อวัน ซึ่งเมื่อสะพานรัชโยธิน ถูกปิดจะมีผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งตำรวจจราจรและรฟม. จะปรับตามสภาพความหนาแน่นของการจราจรในแต่ละวัน โดยจากการซักซ้อมของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเห็นได้ว่า มีความพยายามลดผลกระทบเป็นอย่างมาก ซึ่งรฟม.ประสานตำรวจจราจร ทำแผนรองรับการจราจรหลายรูปแบบ กทม.จึงส่งมอบพื้นที่ให้รฟม. และจากนี้จะดูแลและติดตามโครงการอย่างใกล้ชิดโดยกทม.จะดูการจราจรทางกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) และตรวจสภาพการจราจรโดยรอบ หากพบว่ามีผลกระทบจะแจ้งไปยังรฟม. เพื่อประสานตำรวจจราจร ปรับรูปแบบการจราจร เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อย่างไรก็ตามขอความร่วมมือประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางหากไม่มีความจำเป็น ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประเมินสถานการณ์แบบรายวันตามสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนให้มากที่สุด 



ทั้งนี้ เมื่อรฟม.ก่อสร้างอุโมงค์เสร็จแล้ว จะมอบให้กทม.ดูแลต่อไป โดยการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดในแนวถนนรัชดาภิเษก จะเริ่มก่อสร้างได้ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค.2560 ใช้เวลาก่อสร้าง 24 เดือนแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้วันที่ 9 ก.พ.2562 ซึ่งจะใช้เวลาน้อยกว่าอุโมงค์ทางลอดมไหสวรรย์ เนื่องจากอุโมงค์มีความยาวเพียง 800 เมตร และไม่ต้องผ่านคลอง อีกทั้งมีจุดตัดเพียงจุดเดียวเท่านั้น 



สำหรับสะพานข้ามแยกรัชโยธิน ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2534 มีความยาว 583 เมตร ความกว้าง 14 เมตร ฝั่ง 7 เมตร โดยโครงสร้างเป็นโครงเหล็กทั้งหมดรวมระยะเวลาที่เปิดใช้ 25 ปี ซึ่งกทม.มีการบำรุงรักษาสะพานมาอย่างต่อเนื่องส่วนการปิดการจราจรบนสะพานข้ามแยกรัชโยธิน เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วน(เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทดแทนแนวสะพานเดิม โดยใช้เวลารื้อสะพานระยะ 2 เดือนส่วนเส้นทางเลี่ยงการจราจรที่ได้รับผลกระทบบริเวณสี่แยกรัชโยธิน ทั้ง 5 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางที่ 1 ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยพหลโยธิน 21 ออกไปยังซอยวิภาวดี 30 เส้นทางที่ 2 ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยพหลโยธิน 23 ออกไปยังซอยวิภาวดี 32 และเส้นทางที่ 3 ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยรัชดาภิเษก 46 ออกไปยังซอยพหลโยธิน 33, เส้นทางที่ 4 ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยรัชดาภิเษก 48 และ 46/1 ออกไปยังซอยพหลโยธิน 35 และ เส้นทางที่ 5 ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยพหลโยธิน 30 ออกไปยังซอยรัชดาภิเษก 36, 32, 30  



 



CR: FB:กองประชาสัมพันธ์ กทม.

ข่าวทั้งหมด

X