หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นายกอรปศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรี ได้พิจการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใน 69 จังหวัด โดยกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภูเก็ต นครปฐม ปรับขึ้น 10 บาท รวมเป็น 310 บาท ส่วนอีก 13 จังหวัดหลักด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา อยุธยา เป็นต้น ปรับขึ้น 8 บาทรวมเป็น 308 บาท ส่วนอีก 49 จังหวัดที่เหลือ จะปรับเพิ่ม อีก 5 บาท รวมเป็น 305 บาท สำหรับ 8 จังหวัดที่ไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่ ชุมพร ตรัง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี ระนอง สิงห์บุรี นครศรีธรรมราชเนื่องจากมีโรงงานไม่มากนัก อีกทั้งในจังหวัดทั้ง 8 จังหวัด ไม่ได้มีการเสนอขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วย ทั้งนี้การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้ ค่าจ้างแรงงานของประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 โดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้ เพื่อให้แรงงานได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น และสามารถดำรงชีพอยู่ได้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ฝากว่าไม่อยากให้การขึ้นค่าจ้างครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นราคาสินค้าต่างๆ จึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดูแลเรื่องการขึ้นราคาของสินค้าด้วย
ด้านนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ได้อนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรเเบบแปลงใหญ่ ชดเชยโครงการสนับสนุนสินเชื่อ ให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี2559/2560 และ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติไปเมื่อเดือนสิงหาคม แต่ได้รับความสนใจน้อย อีกทั้งเป็นสินเชื่อระยะเวลาสั้น จึงได้ประกาศยกเลิก และใช้โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรเเบบแปลงใหญ่แทน ใช้วงเงินสินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) 20,000 ล้านบาท ได้รับแปลงละไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการจัดค่าลงทุนการเกษตรแปลงใหญ่ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเพื่อจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ โดยเกษตรกรจะจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี แบ่งเงินกู้เป็น2 ประเภท ประกอบด้วยกู้เพื่อใช้จ่ายหมุนเวียน ต้องคืนภายในระยะเวลา 1 ปี ส่วนกู้เพื่อลงทุนสามารถกู้ได้ 5 ปี เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 - ธ.ค. 2564 ใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยดอกเบี้ย
นอกจากนี้ยังมีการทบทวน โครงการ ชะลอสินเชื่อการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือข้าเก็บเกี่ยวค่าปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/2560 โดยเพิ่มมาตรการดังกล่าว ไปยังเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วย แบ่งเป็น 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ให้สินเชื่อตั้งแต่ 1 พ.ย. 2559 - 28 ก.พ. 2560 วงเงินสินเชื่อ ข้าวเหนียวที่มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2 กำหนดสินเชื่อตันละ 9,500 บาท หรือไม่เกินร้อยละ 90 ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกตันละ 1,500 บาท วงเงินสินเชื่อ 23,754 ล้านบาท ส่วนมาตรการการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว เกษตรกรได้รับในราคาตันละ 2,000 บาทไม่เกินครัวเรือนละ 25,000 บาท ทั้งนี้ในพื้นที่ภาคใต้ได้ขยายกรอบระยะเวลาไปถึงวันที่ 1 ก.ค.2560 เนื่องจากจะมีการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมิถุนายน