พณ.แนะมอบข้าวเป็นของขวัญปีใหม่/ค่าไฟปีหน้าคงเดิม

21 พฤศจิกายน 2559, 08:16น.


เมื่อวานนี้ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่จังหวัดยโสธรและอุบลราชธานี เพื่อติดตามกิจกรรม “โชห่วย...ช่วยชาวนา" ในการบรรเทาปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งรับซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง แล้วนำมาจำหน่ายให้คนในพื้นที่ในราคาทุน และการให้ชาวนานำข้าวมาจำหน่ายที่ร้านค้าโดยไม่คิดค่าเช่าพื้นที่ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังเชิญชวนผู้ที่กำลังมองหาของขวัญ พิจารณามอบข้าวเป็นของขวัญของฝาก



นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้มีเกษตรกรและชาวนาไทยให้ความสนใจที่จะร่วมโครงการขายข้าวออนไลน์ และการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างชาวนาไทยกับผู้ซื้อทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่อให้เกิดการซื้อขายอย่างครบวงจร



นอกจากนี้ นางอภิรดี ยังให้กรมการค้าภายในไปหารือร่วมกับผู้ประกอบการสินค้า ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าส่งค้าปลีก จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและลดราคาสินค้า เพื่อสนับสนุนการซื้อหาสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งไม่เพียงช่วยลดค่าครองชีพ แต่ยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสุดท้ายของปีนี้ต่อเนื่องจนถึงต้นปีหน้า   



ด้านกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีนี้ ให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณา 3 มาตรการ คือ มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท/ปี เพิ่มเติมจากปกติที่ลดหย่อนได้ 15,000 บาทอยู่แล้ว ทำให้ทั้งปีขอลดหย่อนได้ 30,000 บาท มาตรการที่ 2 ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการซื้อสินค้าและบริการช่วงปลายปีไม่เกิน 15,000 บาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการยกเว้นภาษีเพื่อสนับสนุนการซื้อสินค้าประเภทเครื่องสำอางและน้ำหอม (ช็อปปิ้ง พาราไดซ์) ซึ่งจะมีภาษี 2 ส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ จะเริ่มดำเนินการทันที



นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการสำหรับผู้ลงทะเบียนเป็นผู้มีรายได้น้อยกว่า 8 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชานเมือง และมีอาชีพทางการเกษตรถึงครึ่งหนึ่งของผู้ที่ลงทะเบียน



นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นด้วยที่มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งไม่ได้ปรับเพิ่มมาเป็นเวลา 4 ปีแม้ว่าจะยังไม่สะท้อนผลิตภาพแรงงานและค่าครองชีพในบางพื้นที่



ทั้งนี้ นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาให้ปรับขึ้น 69 จังหวัดและคงเดิม 8 จังหวัดโดยที่ปรับขึ้นจาก 300 บาทต่อวันจะมี 3 กลุ่มคือปรับขึ้น 5 บาทต่อวัน 49 จังหวัด ปรับขึ้น 8 บาทต่อวันใน 13 จังหวัดและปรับขึ้น 10 บาทต่อวัน 7 จังหวัด โดยคาดว่าจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้เพื่อประกาศใช้มีผลบังคับ 1 มกราคมปีหน้า ทั้งนี้ค่าแรงเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งต่อการตัดสินใจลงทุน สิ่งที่เอกชนมองเป็นองค์ประกอบที่สำคัญคือแรงซื้อหรือตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยในประเทศมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้นค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐเริ่มเป็นรูปธรรม และการลงทุนของเอกชนจะทยอยตามมา



นายอภิศักดิ์ ยังเร่งรัดหน่วยงานของกระทรวงการคลังดำเนินการเสนอการออกกฎหมายสำคัญที่ยังค้างอยู่ให้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมาย เพื่อปรับโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อที่จะทำให้การพัฒนาและกำกับดูแลตลาดทุนของไทยมีประสิทธิภาพและเป็นสากลมากขึ้น



นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้รับอนุมัติงบลงทุนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำหรับใช้ในแผนการลงทุนในปี 2560 วงเงิน 5 หมื่น 7 พัน 5 ร้อยล้านบาท ลดลงจากเดิมที่ตั้งเป้าลงทุนไว้ 8 หมื่น 1 พันล้านบาท เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลา ยังมีความล่าช้ากว่าแผน รวมถึงแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนเดิมคือ บางปะกง ยังไม่ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) และแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในปีหน้าจะเติบโตใกล้กับจีดีพีที่หลายหน่วยงานคาดการณ์ไว้ที่ระดับร้อยละ 3.5-4 ขณะที่ค่าไฟฟ้าจะใกล้เคียงกับปีนี้ โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติยังทรงตัวตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณาค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร (เอฟที) งวดเดือนมกราคม-เมษายนปีหน้าภายในเดือนธันวาคมนี้



นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) คาดว่าภายในเดือนธันวาคมนี้ จะสามารถสรุปข้อกฎหมายเรื่องการใช้ที่ดินของ ร.ฟ.ท.ว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ โดยปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์รวม 3 หมื่นไร่ มูลค่ารวมมากกว่า 3 แสนล้านบาท



วันนี้ กรุงเทพมหานคร นัดประชุมชี้แจงชุมชนได้รับการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย พื้นที่แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต ตามโครงการ “พัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” โดยมีชุมชนราชผา (เจ้าแม่ทับทิม) จำนวน 32 ครัวเรือน, ชุมชนราชผา (โรงไอติม) จำนวน 32 ครัวเรือน, ชุมชนมิตตคาม 1 จำนวน 66 ครัวเรือน,ชุมชนมิตตคาม 2 จำนวน 55 ครัวเรือน 



..



 

ข่าวทั้งหมด

X