การเสนอการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉบับที่ 6 พ.ศ.2560 – 2564 ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 2 / 2559 โดยมีนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานการประชุม พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ดำเนินงานสนองพระราชดำริเข้าร่วม ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบการจัดทำ แผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉบับที่ 6 พ.ศ.2560-2564 โดยแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์ การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ เน้นดำเนินงานเพื่อสนองพระราชดำริการใช้ประโยชน์หญ้าแฝก ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ควบคู่ไปกับการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ มีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา สร้างเครือข่ายการจัดการความรู้ด้านหญ้าแฝก ส่งเสริมการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน และนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ มาเป็นเครื่องมือติดตามผลการดำเนินงานเพื่อเป็นข้อมูลในการวิจัยในโครงการต่างๆต่อไป พร้อมทั้งส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องหญ้าแฝกกับประชาชนด้วย ทั้งนี้ แผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉบับที่ 6 จะเป็นแผนที่ใช้เป็นแนวทางดำเนินงานด้านการพัฒนาและใช้หญ้าแฝกในปีต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการติดตามการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการศึกษาระบบบำบัดน้ำทิ้งจากระบบเพาะพันธุ์สัตว์น้ำโดยใช้หญ้าแฝกสงขลา 3 จังหวัดสุรินทร์โครงการส่งเสริมระบบบำบัดน้ำทิ้งจาก ระบบเพราะพันธุ์กุ้งก้ามกรามโดยใช้หญ้าแฝกพันธุ์สงขลา 3 ระบบ รากลอยและรากลงดิน จังหวัด สุรินทร์ และโครงการอิทธิพลของหญ้าแฝกร่วมกับการปลูกพืชคลุมดินที่มีต่อการอนุรักษ์ดินและน้ำในแปลงไม้ผลจังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535-2559 ได้มีการศึกษา ทดลอง วิจัย โครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แล้ว 262 โครงการ โดยใช้พันธุ์หญ้าแฝกที่เหมาะสมต่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และไม่ขยายพันธุ์เมล็ด 10 พันธุ์ของหญ้าแฝก ได้แก่ พันธุ์สุราษฏร์ธานี พันธุ์ศรีลังกา พันธุ์กำแพงเพชร 2 พันธุ์สงขลา 3 พันธุ์นครสวรรค์ พันธุ์กำแพงเพชร 1 พันธุ์เลย พันธุ์ร้อยเอ็ด พันธุ์ราชบุรี และพันธุ์ประจวบคีรีขันธ์
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม