การดูงานประเทศต้นแบบแก้ปัญหายาเสพติด พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พลเอก นิวัตร มีนะโยธิน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) และผู้บริหารระดับสูงที่กำหนดนโยบายด้านยาเสพติดของประเทศไทย เดินทางเพื่อศึกษา รูปแบบการจัดการปัญหายาเสพติด ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสาธารณรัฐโปรตุเกส ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบในการดำเนินนโยบายยาเสพติดโดยใช้แนวทางสาธารณสุข
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาหลายประเทศมองเห็นว่าปัญหายาเสพติดของโลกไม่ได้ลดลง ตรงกันข้ามกลับรุนแรงมากขึ้น และไปเชื่อมต่อกับปัญหาอื่นมากขึ้นไปอีก เช่น การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหาเอดส์ ปัญหาสาธารณสุข ฯลฯ จึงเริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด ว่าแท้จริงแล้วปัญหายาเสพติด เป็นเรื่องของสุขภาพ เรื่องของระบบสาธารณสุข เรื่องของสิทธิมนุษยชน เรื่องของความยากจน เรื่องของการพัฒนา ฯลฯ ดังนั้น นโยบายใหม่ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดจึงให้ความสำคัญและมองผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ที่ต้องได้รับการรักษา อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
โดยสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะได้ไปศึกษารูปแบบการให้บริการแนวทางการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ณ คลินิกในเมืองไลพ์ซิก ที่โดดเด่นในการลดอันตรายจากการใช้เมทแอมเฟตามีน ซึ่งสอดคล้องกับสภาพปัญหายาเสพติดของไทย
ส่วนของสาธารณรัฐโปรตุเกส คณะผู้แทนไทยได้เพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านการลดทอนความเป็นอาชญากรรม (Decriminalization) อันเป็นแนวทางที่ประชาคมโลกให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ โดย พลเอก นิวัตร มีนะโยธิน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้เป็นหัวหน้าคณะไปศึกษาการดำเนินงาน ณ เรือนจำโปรตุเกส เพื่อรับทราบแนวทางการบริการสาธารณสุขในเรือนจำ และรับฟังกฎหมายยาเสพติดและการบังคับใช้กฎหมายโดยผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติโปรตุเกส เพื่อสร้างความเข้าใจกรอบการใช้กฎหมายในลักษณะการลดทอนความผิดทางอาญาให้กับผู้เสพ และผู้ค้ารายย่อย ตลอดจนเข้าศึกษาวิธีการ รูปแบบการจัดการปัญหายาเสพติดของคณะกรรมการกลางเพื่อการควบคุมพฤติกรรมและการใช้ยาเสพติด หรือการใช้มาตรการทางการปกครอง อาทิ การปรับ การรายงานตัวเป็นระยะ การบำเพ็ญประโยชน์ หรือการตักเตือน ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยได้ถือโอกาสนี้ เดินทางไป ณ ศูนย์เฝ้าระวังด้านการยาเสพติดและการเสพยาเสพติดแห่งสหภาพยุโรป เพื่อศึกษาระบบการเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้ประโยชน์จากข้อมูล ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศโปรตุเกส
จากนี้ คณะผู้แทนจะร่วมกันยกร่างตัวแบบ (Model) นโยบายยาเสพติดของประเทศไทยขึ้น โดยบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อการแก้ไขปัญหาในทุกมิติอย่างครอบคลุม โดยมีสำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะหน่วยงานกลางด้านยาเสพติดของประเทศเป็นแกนกลางในการดำเนินงาน ด้วยเป้าหมายให้ประเทศไทย มีนโยบายยาเสพติดที่มีประสิทธิภาพ การแก้ไขปัญหายาเสพติดจึงต้องครอบคลุมและจัดความสมดุลในเรื่องเหล่านี้ให้ได้อย่างเหมาะสม การปรับนโยบายยาเสพติดจึงไม่ได้เป็นการรับรองการใช้ หรือ ทำให้ตัวยาเสพติดเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่เป็นการจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เหมาะสมกับประเภท และความรุนแรงที่ควรจะเป็นมากกว่า และยังคงมีบทลงโทษทางกฎหมายต่อนักค้ายาเสพติดเช่นเดิม