+++นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 14 พ.ย. ทุกปี ถือเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับคนไทยทุกคน เพราะย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากจากปัญหาขาดแคลนน้ำ ขณะที่ ทรงทอดพระเนตรเห็นเมฆบนฟ้าลอยผ่าน ณ เวลานั้น พระองค์ตั้งพระราชหฤทัยที่จะแปรเมฆเหล่านั้นให้เป็นเม็ดฝนเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำให้กับราษฎร จนประสบความสำเร็จเป็นเทคโนโลยีการทำฝนเทียมอันทรงประสิทธิภาพ และก่อกำเนิดเป็นโครงการพระราชดำริฝนหลวงขึ้นมา และกำหนดให้วันที่ 14 พ.ย.ทุกปี เป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง
+++นายสุรสีห์ กิตติมณฑล รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กำหนดจัดงาน 14-16 พ.ย.2559 ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ มีการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยใช้เทคโนโลยีภาพเพลงเล่าเรื่องตั้งแต่การเกิดพระราชดำริฝนหลวงจนถึงปัจจุบัน และนิทรรศการ 9 นวัตกรรมแห่งพระอัจฉริยภาพ ตำนานแห่งฝน
+++พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การทำนารอบ 2 กระทรวงฯ มีนโยบายลดจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวลงอีก 5.2 ล้านไร่ โดยจะสนับสนุนให้มีการปลูกพืชไร่ชนิดต่าง ๆ 3 ล้านไร่ ปลูกข้าวโพด 2 ล้านไร่ และปลูกพืชปุ๋ยสด 2 แสนไร่ เพื่อลดปริมาณข้าวที่จะออกมาจนล้นตลาดและป้องกันปัญหาราคาข้าวตกต่ำ กระทรวงฯ จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 15 พ.ย.นี้ ให้ทบทวนการซื้อเครื่องจักรทางการเกษตรที่จะขยายให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้มีโอกาสซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตรบ้าง จากเดิมกำหนดให้กลุ่มสหกรณ์เพียงอย่างเดียว รวมทั้งอุปกรณ์ทางการเกษตรด้วย
+++นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันได้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำ โดยการตรวจสอบความพร้อมใช้งานของระบบชลประทาน ทั้งอาคารชลประทาน ระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ คันกั้นน้ำ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำ ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที
+++สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ นายสัญชัย กล่าวว่า ณ วันที่ 8 พ.ย. 2559 มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 49,762 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปี 2558 จำนวน 8,737 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 26,236 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะ 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำใช้การได้ 3,115 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,838 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 912 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 998 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง 4 เขื่อน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 9,863 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการสนับสนุนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอื่นๆตลอดในช่วงฤดูแล้งปี 2559/2560
+++ส่วนสถานการณ์น้ำในจังหวัดเพชรบุรี ภายหลังจากเขื่อนเพชร ลดการระบายน้ำลง ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.เป็นต้นมา ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ต่ำกว่าตลิ่งแล้วตลอดทั้งลำน้ำ สภาพในบริเวณตัวเมืองเพชรบุรี น้ำแห้งเกือบหมดแล้ว
+++ภายหลังการลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการระบบระบายน้ำคลองหลุมไผ่-คลองโคกครามและคลองเสือน้อย นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า งบประมาณที่รัฐบาลให้ กทม.จำนวน 2,200 ล้านบาท เพื่อมาปรับปรุงระบบท่อระบายน้ำ คาดว่าจะแบ่งการดำเนินงานเป็น 11 โครงการ โดยมีสำนักการระบายน้ำเป็นผู้ดำเนินการ ระยะแรกจะเป็นการขยายท่อใหม่ที่มีความกว้างขนาด 1.5-2 เมตร ครอบท่อระบายน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจะทำให้ในเส้นทางเดียวกันมีการระบายน้ำทั้งในท่อขนาดเล็กและท่อขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นมา จะส่งผลทำให้น้ำระบายได้เร็วยิ่งขึ้น คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2561 ใน 11 ถนนที่เป็นจุดอ่อน ของการระบายน้ำ เช่น ถนนอโศก สุขุมวิท ทรงวาด ศรีอยุธยา แบริ่ง งามวงศ์วาน
+++สำหรับโครงการต่อๆ ไป จะดำเนินการก็ต่อเมื่อโครงการที่ 1 ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ถนนในพื้นที่ที่ กทม.รับผิดชอบทั้งหมดมีความยาวประมาณ 6,400 กิโลเมตร จากงบประมาณที่รัฐบาลให้มา สามารถจัดทำระบบท่อใหม่ได้เพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น ทั้งนี้ มองว่าระบบการระบายน้ำของ กทม.ต้องมีความสัมพันธ์กับระบบของอุโมงค์ระบายน้ำและต้องมีการประสานงานร่วมกับหลายๆ หน่วยงาน เพื่อให้มีการบริหารจัดการน้ำร่วมกันอย่างเป็นระบบ
+++ช่วงบ่ายนี้ นายจักกพันธุ์ ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าว ณ อาคารระบบระบายน้ำเข้าอุโมงค์ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค
+++เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญว่าขณะนี้ได้นำทูลเกล้าฯแล้ว โดยส่งไปที่สำนักราชเลขาธิการภายในกรอบ 30 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ระบุไว้ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการที่อยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน สิ้นสุดต้นเดือนกุมภาพันธ์
+++ร.ต.อ.นพดล หอมสมบัติ รอง สว.(สอบสวน) สน.ประชาชื่น เจ้าของคดี รถกระบะยี่ห้ออีซูซุ สีบรอนซ์เทา ทะเบียน 1 ฒผ 5526 กรุงเทพมหานคร ขึ้นทางด่วนบริเวณด่านเก็บเงินประชาชื่นขาเข้า (ทางพิเศษศรีรัช) แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ แต่ไม่สามารถผ่านได้เนื่องจากไม่มีบัตรอีซี่พาส นายอนิรุธ แสงมิตร อายุ 52 ปี รปภ. จึงให้ถอยเข้าช่องจ่ายเงินสด สร้างความไม่พอใจให้คนที่นั่งข้างคนขับ ก่อนจะลงจากรถมาชก นายอนิรุธ จนแน่นิ่งก่อนจะขับรถหลบหนีไป ร.ต.อ.นพดล เปิดเผยว่า กล้องวงจรปิดจับภาพทะเบียนรถและเหตุการณ์ไว้ได้ชัดเจน ได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 1 ลงวันที่ 8 พ.ย. ต่อนายธนวรรธน์ แพสวัสดิ์ อายุ 35 ปี ผู้ต้องหาตามที่พยานชี้ตัวในข้อหา ทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ แล้วหากออกหมายเรียกครบ 3 ครั้งแล้วยังไม่มาจะทำการออกหมายจับต่อไป
+++พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) เปิดเผยการจับกุม นายนิรัตน์ แก้วสุกัลยา ฉายา ก้อง หัวไว พร้อมของกลางรถจักรยานยนต์พี ซี เอกซ์ ทะเบียน(ปลอม) 4 กฮ 9556 กรุงเทพมหานคร กระเป๋าสตรี 64 ใบ เอกสารผู้เสียหาย 60 รายการ โทรศัพท์มือถือ 10 เครื่อง โดยจับกุมได้ที่ริมถนนบ้านกรด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากมีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์จำนวนมากว่ามีคนร้ายตระเวนก่อเหตุวิ่งราวทรัพย์ในหลายท้องที่ ตำรวจจึงเร่งสืบจนทราบว่าคนร้ายคือ ก้อง หัวไว พักอาศัยอยู่ย่านบางเขน แต่ได้หลบหนีไปอยู่จ.พระนครศรีอยุธยา จึงนำกำลังไปจับกุมตัว โดยจากการสอบสวนให้การรับสารภาพว่า ตระเวนก่อเหตุมา 4 ปี กว่า 100 ครั้ง โดยเลือกพื้นที่ สน.ห้วยขวาง สน.ลุมพินี สน.ลาดพร้าว สน.ทองหล่อ สน.ทุ่งมหาเมฆ สน.วังทองหลาง และสน.บางรัก เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวมากและส่วนใหญ่มีฐานะ นอกจากนี้จากการตรวจสอบประวัติพบว่าเคยต้องโทษคดีวิ่งราวในท้องที่ สน.วังทองหลาง เมื่อปี 2556 อีกด้วย