การลงพื้นที่กองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก เพื่อติดตามโครงการฝนหลวง ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นวัน พระบิดาแห่งฝนหลวง ด้วย นาวาอากาศเอกขจรฤทธิ์ แก้วอำไพ ผู้บังคับการกองบิน 46 เปิดเผยถึงขั้นตอนการทำฝนหลวงว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกองทัพอากาศจะร่วมกันดำเนินงาน โดยใช้หน่วยวิชาการจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเริ่มทำฝนหลวง โดยฤดูที่เหมาะกับการทำฝนหลวงมากที่สุด คือ ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม และจะต้องรอความชื้นจากอากาศให้ได้มากกว่าร้อยละ 60 ถึงจะปฏิบัติภารกิจได้ ส่วนในช่วงนี้ เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ก็ยังสามารถทำฝนหลวงได้ โดยมีเครื่องบินของกองทัพอากาศไว้ตามกองบินต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อปฏิบัติภารกิจ และในปี 2559 เริ่มปฏิบัติภารกิจฝนหลวงตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม สำหรับการทำฝนหลวงในแต่ละฤดู จะใช้สารเคมีในปริมาณใกล้เคียงกัน โดยจะมีโซเดียมคลอไรด์ แคลเซียมคลอไรด์ ยูเรีย เป็นหลัก เพื่อให้ไอน้ำเกาะตัว ขยายตัวใหญ่ขึ้นเป็นเม็ดฝน ซึ่งปกติแล้วจะมีการโปรยสารเคมีในช่วงสาย และช่วงเย็นฝนก็จะตกทันที ส่วนในช่วงบ่ายจะมีการขึ้นบินสาธิตปฎิบัติการฝนหลวงด้วย
ผู้สื่อข่าว:สมจิตร์ พูลสุข