พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน" ตอนหนึ่ง ว่า ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันชาวนายังคงประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำบ่อยครั้ง ซึ่งการทำนาอย่างเดียวอาจจะไม่พอต่อการเลี้ยงชีพ รวมถึงให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรยังไม่เข้มแข็งทำให้ขาดอำนาจในการต่อรองกับโรงสีและพ่อค้าคนกลาง ขาดการคิดค้นผลิตนวัตกรรมข้าวในการเพิ่มมูลค่า ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้รายได้ไม่มั่นคงต้องกู้หนี้ยืมสิน ทั้งนี้รัฐบาลได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” การศึกษาอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นทาง เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ ลมฟ้าอากาศ องค์ความรู้ ปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์ ยากำจัดศัตรูพืช และปุ๋ย เป็นต้น กลางทาง เช่น แหล่งทุน เครื่องจักรกลการเกษตร โรงสี การแปรรูป และนวัตกรรม และปลายทาง เช่น ตลาดในประเทศ การส่งออกต่างประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตามสำหรับมาตรการช่วยเหลือรัฐบาลได้ศึกษา ปรับปรุงแก้ไข เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด ไม่ให้ซ้ำรอยนโยบายในอดีตที่ผ่านมา
สำหรับในเรื่องของการแก้ไขปัญหาระยะสั้นได้มีมติเห็นชอบ มาตรการช่วยเหลือเกษตรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559 ถึง 2560 ในด้านการตลาด ได้แก่ 1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559 ถึง 2560 ซึ่งกำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือก ไม่เกินร้อยละ 90 ของราคาตลาด 2.ค่าใช้จ่ายในการตากข้าวเปลือก และค่าแรงงานเข้าร่วมโครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร, สหกรณ์การเกษตร, กลุ่มเกษตรกร รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน และ3.การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ปีการผลิต 2559 ถึง 2560โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ 1 พ.ย.-28 ก.พ. 2560 ส่วนอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาได้แก่ การรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มผู้บริโภคเหมือนกัน แล้วก็ไปติดต่อกับกลุ่มผู้ผลิตโดยตรง
ส่วนการสร้างความยั่งยืนในระยะยาว รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือชาวนาทั้งระบบ โดยการปรับกระบวนทัศน์สำหรับอนาคตข้าวไทยคำนึงถึงปัจจัยด้านตลาด ได้แก่ 1.ใช้การตลาดนำการผลิต หรือให้ความต้องการเป็นตัวตั้ง 2.จำแนกแผนการส่งเสริมข้าวและการกำหนดมาตรฐานตามประเภทของข้าว 3.ปรับโครงสร้างการปลูกและผลิตข้าวครบวงจร 4.การสร้างความเป็นธรรมให้แก่ชาวนาในกระบวนการผลิตและค้าข้าว ด้วยอาศัยกลไกประชารัฐ ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดแผนงานสำหรับให้การสนับสนุนชาวนาในแต่ละช่วงเวลาของวงจรข้าว ประกอบด้วย 10 แผนงาน ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บเกี่ยว ประกอบด้วย 3 แผนงาน รวมทั้งการจัดทำการตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย 10 แผนงาน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังจะทำลายการผลิตข้าว การปลูกข้าว ของเกษตรกร วิถีชีวิตชาวนา เราเพียงมุ่งหวังจะทำให้ชาวนา มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน รัฐบาลมองเห็นปัญหาจึงจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ครบวงจร ตั้งแต่การปลูก – การแปรรูป – การตลาด รวมทั้งได้พิจารณาในเรื่องของการชะลอหนี้ รัฐบาลไม่เคยคิดจะบังคับชาวนา เกษตรกรนอกจากพยายามสร้างความเข้าใจรักษาอาชีพนี้ให้ยั่งยืน สำหรับ มาตรการสร้างแรงจูงใจให้มีการปรับเปลี่ยน การปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ – น้ำ เป็นสิ่งสำคัญ ขั้นต้นจะทำให้เรารู้ปริมาณน้ำที่จะต้องใช้, การจัดระเบียบการปลูก ซึ่งอาจไปทำอาชีพอื่นหรือหันไปปลูกพืชชนิดอื่น ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่เคยคิดว่าเราจะจ้างให้ชาวนาเลิกปลูกข้าว เพียงแต่เราจะให้ทุนในการปลูกพืชชนิดอื่นเสริม ซึ่งแล้วแต่ความสมัครใจของแต่ละคน
สำหรับพืชชนิดอื่นๆ เช่น ข้าวขาว ข้าวโพด ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญ ได้ให้ฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาร่วมกันเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา ส่วนปัญหาการทำอาหารสัตว์รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังพยายามหาทางออกอยู่ ทั้งนี้รัฐบาลอาจจำเป็นต้องทบทวนโควต้าการนำเข้าข้าวโพด ข้าวสาลี ทั้งระบบ รวมทั้งระบบภาษีต่างๆด้วย รัฐบาลทราบข้อมูลมีการตรวจสอบจากเกษตรกรโดยตรงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ ดังนั้นตนไม่อยากให้ปัญหาดังกล่าวเป็นช่องทางให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง บิดเบือนจนทำให้เกิดปัญหาได้