ตัวแทนแต่ละภาคส่วน ชี้เหตุน้ำท่วมเมือง ทั้งการทรุดตัวของดิน การก่อสร้างขวางทาง หรือการรุกล้ำลำน้ำ

03 พฤศจิกายน 2559, 15:42น.


ในการเสวนาเรื่องการแก้ปัญหาผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่เมือง โดยองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น แสดงมุมมอง ถึงปัญหาของการเกิดน้ำท่วมในเมืองปัจจุบัน ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้แสดงมุมมอง ของปัญหาผังเมืองกับการจัดการน้ำว่า มีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัย ประกอบด้วยการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสม จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีการขยายตัวมากขึ้น โดยมีแนวโน้มว่า อาจทำให้มีน้ำท่วมสูงกว่าร้อยละ 60 รวมทั้งปัจจัยของการทรุดตัวของแผ่นดิน มาจากการปลูกสร้างอาคาร ขนาดใหญ่ สังเกตได้จากพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดน้ำท่วม ปัจจุบันกลับถูกน้ำท่วมได้ เนื่องจากพื้นที่มีความทรุดตัว นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องการบริหารจัดการที่มีช่องว่าง ซึ่งได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาด้วยการ วางผังเมืองให้รองรับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของน้ำ



รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ในฐานะตัวแทนของภาคเอกชน จากบริษัทควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด มหาชน ยอมรับว่า การใช้ที่ดินของภาคเอกชนคือสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วม ซึ่งมาจากการก่อสร้าง ในที่ที่ไม่ควรสร้าง โดยการแก้ปัญหาคือต้องมีหน่วยงาน ทำหน้าที่สร้างความเข้าใจมากขึ้นรวมทั้งต้องเข้าใจทิศทางของน้ำอย่างจริงจังไม่ใช่การแก้ปัญหาน้ำท่วมในจุดหนึ่ง แต่เกิดน้ำท่วมในจุดอื่นแทน โดยเน้นว่าการทำงานของหน่วยงานจะต้องไม่ต่างคนต่างทำ แต่จะต้องมีการบูรณาการร่วมกันในทุกหน่วยงาน



ขณะที่ด้านของกฎหมาย ถือเป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่เมือง นางสุจินต์ ธำรงค์เทพพิทักษ์ ตัวแทนจากสวนอุตสาหกรรมบางกะดี จ.ปทุมธานี ได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของกฎหมาย ซึ่งยังไม่มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกัน  ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ที่ดิน ในการปลูกสร้างโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่ง อาทิ มีการกำหนด เป็นพื้นที่สีม่วง แต่กลับไม่มีการกำหนด ว่าเป็นพื้นที่กีดขวางเส้นทางของน้ำ ทำให้เมื่อก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ประสบปัญหาน้ำท่วมโรงงาน





อย่างไรก็ตาม ทางกรุงเทพมหานคร(กทม.)ได้กล่าวถึงแนวทาง ในการแก้ปัญหาของกทม.โดยนายศิริชัย จงสกุล ตัวแทนของกทม. กล่าวว่า กทม.ได้ออกแบบพื้นที่เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ ซึ่งการเกิดน้ำท่วมในปัจจุบัน  ที่มีผลมาจากการก่อสร้างมากมาย ทำให้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนการระบายน้ำ ซึ่งได้มีการแก้ไข โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราว  รวมทั้ง ก่อสร้างระบบทางระบายน้ำที่สามารถขยายการระบายน้ำในพื้นที่ให้ได้มากขึ้นด้วย





นายฐากูร สิทธิบุศย์ ตัวแทนจากกรมเจ้าท่า กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของกรมเจ้าท่า คือการดูแลทางน้ำสาธารณะที่ใช้เป็นทางระบายน้ำ รวมทั้งการสัญจรทางน้ำ โดยพบว่าคลื่นที่มาจากพาหนะทางน้ำ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการชำรุดของตลิ่ง ส่วนปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย การบุกรุกใช้พื้นที่ริมแม่น้ำ ลำคลอง กรมเจ้าท่าจึงได้กำหนดสิ่งที่สามารถล่วงล้ำลำน้ำได้  อาทิ ท่าเทียบเรือ สะพาน รวมทั้งสิ่งก่อสร้างเพื่อเป็นประโยชน์ทางราชการ อย่าไรก็ตามสิ่งที่ล่วงล้ำลำน้ำต่างๆ ก็ต้องมีการขออนุญาตและได้รับความเห็นจากหน่วยงานส่วนจังหวัดก่อน รวมทั้งต้องมีการศึกษาผลกระทบด้วย โดยในอนาคตจะมีการกำหนดสิ่งล่วงล้ำลำน้ำเพิ่มเติมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มโทษการบุกรุก ให้มีผลอย่างจริงจัง



ผู้สื่อข่าว: เกตุกนก ครองคุ้ม  



 

ข่าวทั้งหมด

X