นักวิชาการ เสนอความเห็นในเวทีเมืองกับการจัดการน้ำ ใช้กม.เข้มงวด เก็บภาษีน้ำท่วม

03 พฤศจิกายน 2559, 14:20น.


การระดมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัย เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภายใต้หัวข้อเมืองกับการจัดการน้ำ ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ TDRI ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบัน สาเหตุหลักมาจากการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสม การขยายตัวของเมืองที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาการแบ่งพื้นที่รับน้ำ เมื่อฝนตกลงมาน้ำฝนจึงไหลลงสู่ท่อระบายน้ำ เนื่องจากไม่มีพื้นดินให้ดูดซับน้ำ จึงจำเป็นต้องปรับระบบการใช้ที่ดิน ที่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เนื่องจากที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ทั้งนี้จึงได้จัดเวทีในการร่วมมือ จากหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาทางออก



ด้านดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวถึงสาเหตุของการใช้ที่ดินว่า มาจากหลายปัจจัย ประกอบด้วย เพื่อพัฒนาเมืองในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วม โดยเป็นโครงการของรัฐบาลและเอกชน เพื่อพัฒนาเมืองในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นทางระบายน้ำ เช่น การถมที่ดิน นอกจากนี้ ยังมีการสร้างกำแพงคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในที่ดินตัวเอง รวมทั้งกฎกติกาที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบัน ยังไม่ได้สร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้รับผลกระทบกับผู้ไม่ได้รับผลกระทบ โดยการใช้ที่ดินนั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดน้ำท่วม จึงจะต้องมีการจัดการในระยะยาว ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้ที่ดินในอนาคต ที่จะต้องมีการวางแผน เพื่อให้ลดความรุนแรงและเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด ทั้งนี้ การแก้ปัญหาที่ดิน กีดขวางจนทำให้เกิดน้ำท่วมนั้น แนวทางหนึ่งที่สำคัญคือ จะต้องอาศัยกฎกติกาที่ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งสังคม ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า หลังการเกิดน้ำท่วมในปี 2554  กลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎกติกาเกิดขึ้นเลย รัฐยังคงแก้ปัญหาด้วยการก่อสร้างแผนต่างๆเพื่อป้องกันน้ำ และแม้ว่าจะมีการรวมกลุ่มของจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ในผลการแก้ปัญหาระยะยาวในเรื่องกฏกติกาที่ ทุกฝ่ายต้องร่วมหารือกัน  ในการพูดคุยถึงการปรับเปลี่ยนแผนปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมซ้ำ กลับไม่มีเกิดขึ้นในสังคม ทั้งนี้หากจะมีการปรับปรุงกฎกติกาจะต้องอาศัยความร่วมมือของสถาบัน ระดับประเทศระดับภาคและระดับท้องถิ่น โดยข้อเสนอแนะที่ ดร.อภิวัฒน์ กล่าวไว้คือ การบังคับใช้กฎหมายการใช้ที่ดินฉบับใหม่เกิดขึ้น โดยมีองค์กรระดับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเป็นผู้รับผิดชอบ รวมถึงมีการสร้างองค์กรและกระบวนการขึ้นมาใหม่ ให้แตกต่างจากเดิมที่มีอยู่ และสร้างเงื่อนไขการอนุมัติโครงการโดยเฉพาะด้านงบประมาณให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น



ขณะที่ ดร.อดิสร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ กล่าวถึงแนวทางในการแก้ปัญหา น้ำท่วมในพื้นที่เมือง ซึ่งในด้านของการบังคับใช้กฎหมาย ได้เสนอแนะว่า ให้มีการจัดเก็บภาษีน้ำท่วม ซึ่งกระบวนการของการจัดเก็บภาษี คือการเก็บภาษีจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป้องกันน้ำท่วม หรือเขตที่ไม่ได้รับน้ำ เพื่อนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีไปจ่ายเป็นค่าชดเชยให้กับพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม โดยการเก็บภาษีแบบนี้อาจจะไม่ต้องเก็บในทุกปี เพียงบังคับใช้ในกรณีที่เกิดน้ำท่วมหนักเท่านั้น แต่ในสภาวะปกติก็ใช้การจัดเก็บภาษีที่ดินที่มีอยู่แต่เดิม โดยการจัดเก็บภาษีน้ำท่วมนั้น อาจต้องกระทำโดยรัฐบาลกลางเนื่อง จากต้องมีการโอนเงินข้ามจังหวัด ซึ่งการปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถที่จะกระทำได้



นอกจากนี้ ยังเสนอแผนการกำหนดพื้นที่ในการป้องกันน้ำท่วม ว่าควรแยกเป็นพื้นที่ตามภูมิศาสตร์ ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบจังหวัดเหมือนที่ผ่านมาเนื่อง จากในระดับภูมิศาสตร์ การไหลของน้ำจะมีความเชื่อมโยงกันจึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยจังหวัดใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ร่วมปรึกษาหารือ ทั้งนี้ควรมีการกำหนดความสูงของฝายกันน้ำหรือคันกั้นน้ำเพื่อไม่ให้สูงเกินไป เนื่องจากจะทำให้ไปเกิดน้ำท่วมในพื้นที่อื่นแทน ซึ่งถือเป็นการผลักภาระให้กับจังหวัดอื่น ที่มีงบประมาณในการสร้างฝายกั้นน้ำน้อยกว่า อย่างไรก็ตามประชาชนเอง จะต้องมีการรับรู้ ข่าวสารในแต่ละพื้นที่อย่างทันเวลา และจะต้องมีการเตรียมรับมือหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันอยู่เสมอ



ผู้สื่อข่าว: เกตุกนก ครองคุ้ม

ข่าวทั้งหมด

X