นักวิชาการเสนอแนวทางแก้ปัญหาราคาข้าว เน้นให้ชาวพบลูกค้าโดยตรง

02 พฤศจิกายน 2559, 13:15น.


มาตรการการช่วยเหลือชาวนา ในการบริหารจัดการข้าวอย่างยั่งยืน โดยวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการเสนอมุมมองจากนักวิชาการด้านการบริหารธุรกิจ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม สถานการณ์ข้าว มีกำลังการผลิตมากกว่า 6 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกมากกว่า 9 หมื่น 6 พันล้านบาท แต่ชาวนากลับประสบปัญหาข้าวราคาตกต่ำ เนื่องจากการถูกพ่อค้าคนกลางและโรงสีกดราคาขายได้เพียง 5,000 บาทต่อตัน โดยแนวคิดในการชวยเหลือชาวนาให้มีรายได้และพึ่งพาตนเองได้ ประกอบไปด้วย 3 แนวทาง คือการเปิดช่องให้ชาวนาขายข้าวได้โดยตรงที่ บริเวณวิทยาลัยพัฒนาศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งยังสามารถรวบรวมข้อมูลความต้องการ ของผู้บริโภคได้โดยตรง ทั้งสามารถติดต่อกับเครือข่ายชาวนาที่ผลิตข้าวประเภทนั้น ตลอดจนการทำระบบฐานข้อมูลให้ผู้ซื้อและผู้ขายใช้ระบบอินเตอร์เน็ตให้สื่อสารถึงกันได้โดยตรง



ด้าน ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ เปิดเผยว่า ปัญหาราคาข้าวตกต่ำส่วนหนึ่งอาจมาจากการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพในภาพรวม ซึ่งทุกส่วนจะต้องร่วมมือกัน โดยรัฐบาลเป็นผู้ผลักดันการตั้งโรงสีที่มีประสิทธิภาพภายในชุมชน สนับสนุนช่องทางการกระจายข้าวให้ถึงมือผู้บริโภค อาทิ การกระจายข่าวผ่านการขนส่งโดยไปรษณีย์ที่สามารถส่งตรงถึงผู้บริโภคได้ในราคาถูก เพื่อเป็นการลดข้อจำกัด ซึ่งปัจจุบันการส่งสินค้าของชาวนาไทยมีต้นทุนสูง ในการกระจายสินค้า ส่วนภาคการศึกษาสถาบันการศึกษา จะต้องร่วมมือกันในการให้ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมข้าว และด้านเกษตรกรจะต้องมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายหรือเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองทางการแข่งขัน คู่ไปกับการสร้างคุณค่าให้กับข้าวในแต่ละท้องถิ่น ทั้งเสนอแนวทาง ในการยกระดับข้าว คือการสร้างจุดขายโดยการสร้างความแตกต่างให้กับข้าว สร้างรูปลักษณ์หรือแพคเกจเฉพาะตัว ที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 2 เท่า รวมทั้งส่งเสริมการขายตรง และขายในรูปแบบออนไลน์ โดยเชื่อว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับชาวนาได้ เนื่องจากการขายในรูปแบบออนไลน์นั้น มีต้นทุนต่ำ และเข้าถึงได้ง่าย สะดวกต่อการ กระจายสินค้า



ด้านนายทองดี ชมภูภาศ สมาชิกกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดสารพิษ บ้านดอนเพชร จังหวัด อุทัยธานี ซึ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่รับซื้อข้าวอินทรีย์ กล่าวว่า มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนมากว่า 2 ปี เพื่อให้เกษตรกรมีสุขภาพและมีชีวิตที่ดีขึ้น จากการผลิตข้าวแบบอินทรีย์ โดยวิสาหกิจชุมชนที่จัดตั้งขึ้นนี้ก็เพื่อรับซื้อผลผลิตมาเก็บไว้ และระบายออกในช่วงที่เหมาะสมซึ่งจะทำให้ได้ราคาที่สูงขึ้น นั่นคือช่วงกลางปีและปลายปี แต่ก็ยังประสบปัญหาเรื่องแหล่งตลาด ทั้งแหล่งเงินทุนที่มีไม่เพียงพอ ซึ่งได้พยายามหาแหล่งเงินกู้ จากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาจ่ายให้กับชาวนา จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านการสนับสนุนเงินทุน เพราะในช่วงที่เก็บข้าวไว้นั้น ชาวนามีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเพื่อลงทุน และใช้ในครัวเรือนต่อไป



....



ผสข.เกตุกนก ครองคุ้ม

ข่าวทั้งหมด

X