ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองเซนต์หลุยส์และสถาบันวิจัยอื่นๆของสหรัฐฯรายงานผลการวิจัยในวารสารเนเจอร์ว่า ไวรัสซิกามีผลทำลายภาวะเจริญพันธุ์ในหนูตัวผู้ ระบุว่าจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อดูว่าจะมีผลลักษณะเดียวกันนี้กับมนุษย์ด้วยหรือไม่ พวกเขากล่าวว่าหนูที่ติดไวรัสซิกาจะเริ่มมีฮอร์โมนเพศชายและตัวอสุจิลดลงมาก 2 สัปดาห์หลังติดไวรัสซิกา
นักวิจัยกล่าวอีกว่าหนูที่ติดไวรัสซิกายังสามารถทำให้หนูตัวเมียมีครรภ์ได้ตามปกติ เพียงแต่มีอัตราตั้งครรภ์ลดต่ำกว่าปกติเหลือร้อยละ 20 เทียบกับหนูเพศผู้ทั่วไปที่ไม่ติดไวรัส ระบุว่าอัตราการเจริญพันธ์ที่ลดลงดังกล่าวเป็นผลจากการที่ไวรัสทำลายเซลล์ที่ผลิตตัวอสุจิ ทีมนักวิจัยเตือนว่าพวกเขายังไม่สามารถยืนยันได้ในขณะนี้ว่าการติดไวรัสซิกาจะมีผลอย่างเดียวกันนี้ในมนุษย์หรือไม่ ระบุว่ายังต้องใช้เวลาศึกษาเพิ่มเติมอีกพอสมควร เนื่องจากที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พบว่าไวรัสนี้สามารถหลงเหลืออยู่ได้นานในอสุจิของชายที่ติดไวรัส
ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ไวรัสซิกาซึ่งมียุงลายเป็นพาหะได้แพร่ระบาดไปยัง 73 ประเทศและอาณาเขตทั่วโลกเมื่อปีก่อน ส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกากลาง อเมริกาใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนไข้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการที่เด่นชัด แต่สำหรับสตรีมีครรภ์ที่ติดไวรัสซิกานั้น บุตรที่คลอดออกมาส่วนใหญ่จะมีขนาดศีรษะเล็กและพัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติ/16.11 น.