การลงพื้นที่ศึกษาโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา ,สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และกรมชลประทาน ร่วมกันศึกษาหาวิธีแก้ไขสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับขยะมูลฝอย การบำบัดน้ำเสีย และการรักษาสภาพป่าชายเลน ดร.เกษม จันทร์แก้ว ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย เปิดเผยว่า พระองค์มีพระราชดำรัส ให้หาวิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งเรื่องน้ำเสียและขยะ ด้วยวิธีธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ,เทคโนโลยีไม่ยุ่งยากใครก็สามารถทำได้,วัสดุที่ทำต้องมาจากท้องถิ่นเอง เพื่อให้เกิดความประหยัด สะดวก และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นในประเทศได้ ซึ่งพระองค์ใช้บริเวณตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ประมาณ 1,135 ไร่ ที่ศึกษาและวิจัยเทคโนโลยีการทำปุ๋ยหมักจากขยะ ด้วยการนำขยะอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้มาฝังกลบในกล่องคอนกรีตที่เป็นชั้นๆ ซึ่งระหว่างชั้นจะใส่ดินแดง หรือดินนาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ และมีการรดน้ำเพิ่มความชื้นเพื่อช่วยในการลดอุณหภูมิในกระบวนการหมัก โดยจะใช้เวลาในการทำปุ๋ยหมักจากขยะเพียง 30 วัน
ส่วนขยะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อก็จะนำไปรีไซเคิลอีกครั้ง หรือขยะที่มีอันตราย เช่น ยาฆ่าแมลง กระป๋องเคมีต่างๆ ก็จะนำเข้าเตาเผาด้วยอุณหภูมิ600-800 เซลเซียส นอกจากนี้ โครงการนี้ ยังมีเทคโนโลยีด้วยระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย 5 บ่อ ประกอบด้วย บ่อแรกคือบ่อตกตะกอนมีความลึกมากที่สุดถึง2 เมตร 50 เซนติเมตร บ่อที่2 บ่อที่ 3และบ่อที่ 4 คือบ่อผึ่งน้ำมีความลึก 2 เมตร และบ่อสุดท้ายคือบ่อปรับสภาพ มีความลึก1 เมตร 50 เซนติเมตร โดยน้ำเสียทั้งหมดจะมาจากอำเภอเมืองจังหวัดเพชรบุรี หากผ่านกระบวนการบำบัดน้ำเสียทั้ง5บ่อแล้วจะปล่อยลงสู่ป่าชายเลนต่อไป ดร.เกษมยืนยันว่า โครงการวิจัยแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก เห็นได้ว่ารอบๆบริเวณโครงการ มีนกมากถึง 250ชนิด และการเพิ่มปริมาณของตัวเงินตัวทองที่มีถึง400ตัว
ประโยชน์จากการดำเนินโครงการทำให้แม่น้ำเพชรบุรี มีคุณภาพน้ำดีขึ้น,ระบบนิเวศป่าชายเลนมีความสมบูรณ์มากขึ้นทำให้ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น16ไร่ต่อปี,บ่อบำบัดน้ำเสียสามารถเลี้ยงปลาโดยไม่ต้องให้อาหาร,ปุ๋ยหมักจากขยะนำมาปลูกพืชเกษตรได้, น้ำเสียและน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วสามารถนำมาปลูกพืชเกษตรได้, พืชที่เก็บเกี่ยวจากแปลงพืชบำบัดน้ำเสียนำมาทำเครื่องจักรสานผลิตภัณฑ์สินค้าหัตถกรรม และทำเยื่อกระดาษได้ โดยรายได้จะแบ่งให้2โรงเรียนที่อยู่ในหมู่บ้านโรงเรียนละร้อยละ15 และอีกร้อยละ10จะมอบให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในหมู่บ้าน
ขณะเดียวกัน ดร.เกษม กล่าวว่า จะน้อมนำแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในชีวิตประจำวันและจะเผยแพร่สู่ชาวบ้านในชุมชนต่อไป พร้อมเปิดเผยความในใจหลังได้ถวายงานให้กับพระองค์ ว่า รู้สึกตื้นตันใจมาก เพราะไม่เคยคิดว่าจะได้ถวายงานใกล้ชิดพระองค์ ซึ่งตลอดที่ทำงานถวาย ทำด้วยความเลื่อมใส เสียสละ เพราะพระองค์ไม่เคยแสดงให้เห็นว่าพระองค์เหนื่อย อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้พระองค์มีพระราชดำรัสว่า ปัญหาสำคัญคือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องน้ำเสียกับขยะ แต่ก็รับสั่งว่าอย่าไปเร่งรีบ เพราะคนไทยชินกับอะไรเดิมๆ เมื่อถึงตอนนี้คิดว่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องช่วยกันนำแนวทางการวิจัยของพระองค์ไปปฏิบัติ เช่น การคัดแยกขยะให้ถูกวิธี หากใครสนใจโครงการศึกษาวิจัยพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก็สามารถเดินทางมาได้ ที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี จะมีเจ้าหน้าที่จากโครงการคอยให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับโครงการ พร้อมนำเที่ยวชมการวิจัยในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ผู้สื่อข่าว:ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ