ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติและนักวิชาการสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง ยังคงได้รับผลกระทบจากภัยแล้งต่อไปเป็นเวลาหลายเดือน แม้สภาพความแห้งแล้งจะสิ้นสุด เนื่องจากยังต้องเผชิญอากาศรุนแรงหลากหลายประเภทมากขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหากับระบบมนุษยธรรม บั่นทอนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญได้ยกตัวอย่างกรณีเวียดนาม ซึ่งถึงแม้ปัญหาภัยแล้งจะสิ้นสุดลงแล้วเมื่อเดือนกันยายน แต่ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อครัวเรือน โดยเฉพาะการเก็บน้ำ สุขอนามัย ปัญหาโภชนาการ การควบคุมโรค และการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ ทั้งนี้ เวียดนามได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งใน 18 จังหวัด รัฐบาลต้องวางแผนซ่อมแซมสาธารณูปโภค การชลประทาน ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค และเทคโนโลยีช่วยปรับปรุงการพยากรณ์อากาศ คาดว่า รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูเป็นจำนวนกว่า 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึงปี 2563
ส่วนแผนการฟื้นฟูในระยะยาว คณะทำงานศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกได้แนะนำให้รัฐบาลใช้วิธีการรอบด้านครอบคลุมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและในน้ำ ดำเนินมาตรการปรับปรุงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ และปฏิรูปโครงสร้างทางการเกษตร
รัฐบาลเวียดนามประเมินตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจจากปรากฎการณ์เอลนิโญเป็นจำนวน 660 ล้าน 8 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.35 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ซึ่งปัญหาภัยแล้งนี้ถึงช่วงขีดสุดในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในรอบ 90 ปีในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง
ทีมต่างประเทศ
CR:AFP