โฆษก กต.สหรัฐฯ แถลงว่า สหรัฐฯ ได้แสดงข้อห่วงกังวลไปยังกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์ กรณีทหารเมียนมาร์ทำร้ายและข่มขืนหญิงมุสลิมชาวโรฮิงญาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยต้องการให้เมียนมาร์สอบสวนเหตุดังกล่าวและนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี อย่างไรก็ดี โฆษกประธานาธิบดีอูทินจ่อปฏิเสธข่าวดังกล่าว และฝ่ายทหารก็มิได้ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้
ขณะที่ สำนักข่าวรอยเตอร์ สัมภาษณ์หญิงมุสลิมชาวโรฮิงญา 8 คนที่ตกเป็นเหยื่อ ทั้งหมดเป็นคนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมาร์ ถูกทหารทำร้าย บุกค้นบ้าน ทำลายทรัพย์สิน ข่มขืน และยึดเงินทอง และทรัพย์สินอื่นๆ อาทิ ข้าวในยุ้งฉาง หนึ่งในหญิงสาวที่รอดชีวิต อายุ 32 ปี เล่าว่า ไม่สามารถย้ายไปหมู่บ้านอื่น เพื่อหาแพทย์ได้ เนื่องจากไม่มีเสื้อผ้า อาหารรับประทาน ทรัพย์สินและแนวรั้วบ้านเรือนทั้งหมดถูกทำลาย ทั้งยังรู้สึกอับอายและหวาดกลัว
ทั้งนี้ เมียนมาร์ได้ส่งทหารเข้าไปยังเขตหม่องดอว์ตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค. หลังจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญา ซึ่งรัฐบาลเมียนมาร์ เชื่อว่า มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มมุสลิมในต่างประเทศ ก่อเหตุรุนแรงบริเวณด่านชายแดนหลายแห่ง จนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 9 นาย และทหารเสียชีวิต 5 นาย
ขณะที่ นักการทูตและผู้สังเกตการณ์เห็นว่า วิกฤตการณ์ในรัฐยะไข่เป็นปัญหาท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลเมียนมาร์ ทั้งยังเพิ่มความสงสัยในความสามารถของนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ในการควบคุมทหาร อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนต่างประเทศเสนอรายงานว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนางอองซานซูจีกับกองทัพยังคงตึงเครียด เนื่องจากรัฐธรรมนูญเมียนมาร์ ซึ่งร่างโดยทหารเมื่อปี 2551 กีดกันมิให้นางอองซานซูจีดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และยังกันตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ ให้แก่นายทหาร ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงกิจการภายใน และกระทรวงกิจการชายแดน
ทีมต่างประเทศ
CR:REUTERS