การจัดเก็บขยะบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวงและโดยรอบพระบรมมหาราชวัง ซึ่งในแต่ละวัน มีปริมาณขยะทั่วไปเฉลี่ยถึง 78 ตัน และสูงสุด ในวันที่ 22 ตุลาคมที่มีถึง 200 ตัน นางภูษณิศา ปารมีศิลป์ ขจร จิตอาสาที่เข้ามาร่วมเก็บขยะในพื้นที่ เปิดเผยว่า การจัดเก็บขยะ โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ในแต่ละวันจะมีจิตอาสาในส่วนของการจัดการขยะมากถึง 300 - 400 คน โดยมีความรู้เรื่องการคัดแยกขยะเพื่อให้จิตอาสาแนะนำกับประชาชน สำหรับสัดส่วนของขยะ คิดเป็น ขยะเศษอาหาร 30-40% ขยะทั่วไป 50% และขยะรีไซเคิล 10% ซึ่งขยะเศษอาหารจะมีผู้มารับซื้อเพื่อนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ ขณะที่ขยะรีไซเคิล ก็จะมีผู้มารับซื้อเพื่อเข้าสู่โรงงานรีไซเคิลขยะต่อไป โดยเงินที่ได้จากการจำหน่ายขยะจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อใช้ในโครงการตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พร้อมทั้งฝากถึงประชาชนให้เห็นความสำคัญของการแยกขยะ เพราะหากนำเศษอาหารมาทิ้งรวมกับขยะรีไซเคิล ก็จะไม่สามารถนำขยะรีไซเคิลได้
ส่วนที่กรุงเทพมหานคร กำชับดูแลในการจัดเก็บขยะ โดยสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตพระนคร ร่วมกับสำนักงานเขต 42 เขต ระดมเจ้าหน้าที่ 1,526 คน และรถเก็บขนขยะ จำนวน 102 คัน รวมถึงเจ้าหน้าที่ชักลากขยะ เป็นการบูรณาการร่วมกันในการจัดเก็บขยะไม่ให้ตกค้างบริเวณสนามหลวง แบ่งการปฏิบัติงานเป็น 3 รอบ ได้แก่ เวลา 09.00 – 14.00 น., เวลา 14.00-19.00 น. และเวลา 19.00-24.00 น. หรือจนกว่าจะแล้วเสร็จ
นอกจากนี้ภายในพื้นที่ท้องสนามหลวงในวันนี้ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้ทำการติดตั้งห้องสุขาชั่วคราว บริเวณสนามหลวงฝั่งวัดมหาธาตุฯ เพื่อบริการประชาชนที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีจุดบริการห้องน้ำและสุขาเคลื่อนที่บริเวณ สำนักงานศาลฏีกา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร และวัดมหาธาตุฯ ขณะที่จุดให้บริการมอเตอร์ไซค์จิตอาสา มีอยู่จำนวน 6 จุดคือ ประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าช้าง ท่าเตียน วงเวียนรด.ใต้สะพานพระปิ่นเกล้าหน้ากรมการท่องเที่ยว และถ.อรุณอมรินทร์ฝั่งขาเข้าสนามหลวง
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี