การดูแลประชาชนในต่างจังหวัดที่จะเดินทางเข้าถวายสักการะพระบรมศพ เบื้องหน้าพระบรมโกศ พระที่นั่งดุสิตมหาประสาท พระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. เป็นต้นไป นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยืนยันว่า กระทรวงมหาดไทยไม่ได้จำกัดสิทธิบุคคลใด แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีสิทธิ ได้ย้ำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าอย่าคัดเลือกเฉพาะข้าราชการหรือญาติพี่น้องตัวเอง หากสำนักพระราชวัง ขยายวันให้ประชาชนเข้าสักการะพระบรมศพเพิ่มขึ้น กระทรวงมหาดไทยก็จะขยายเวลาเช่นเดียวกัน ยืนยันว่า ประชาชนที่เดินมาทางมากับกระทรวงมหาดไทย จะไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ เพราะเมื่อมาถึงสนามหลวงทั้งหมดก็จะต้องเข้าคิวรับบัตรเหมือนประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ต้องกำชับประชาชนเรื่องการแต่งกาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องสวมกระโปรงหรือผ้าถุงยาวเท่านั้น ส่วนคนที่มีโรคประจำตัวก็ต้องพกยามาด้วย อย่างไรก็ตามบนรถบัสที่นำประชาชนมายังสนามหลวงจะมีเจ้าหน้าที่แพทย์คอยดูแลเรื่องสุขภาพ
กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดประชาชนออกเป็น 4 ภาค รวม วันละ 3,000 คน เฉลี่ยจังหวัดละ 750 คน เรียงตามอักษร ก. – ฮ. รอบแรก วันที่ 29 ต.ค. ประกอบด้วย จ.กระบี่ จ.กำแพงเพชร จ.กาฬสินธุ์ และ จ.กาญจนบุรี สำหรับขบวนรถของแต่ละจังหวัดจะมี 15 คัน เบื้องต้นมีการกำหนดจุดพักคอยไว้ 2 จุดสำคัญ คือ ภาคใต้ จะพักคอยที่พุทธมณฑลสาย 4 ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะพักคอยที่อิมแพ็คเมืองทองธานี เพื่อรอการประสานให้ทยอยเข้ามาทีละขบวนเพื่อป้องกันปัญหาการจราจรติดขัด เบื้องต้น สำนักพระราชวังแจ้งว่าจะเปิดให้ประชาชนเข้าไปถวายบังคับพระบรมศพ ได้ประมาณวันละ 8,000 – 10,000 คน ซึ่งในส่วนของกระทรวงมหาดไทยประเมินว่า 100 วันแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนต่างจังหวัดเข้ามา จะมีจำนวนกว่า 225,000 คน
แฟ้มภาพ