แนวทางการจัดสรรรายได้ จากการเปิดให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการที่พักริมทาง โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา และ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ของกรมทางหลวง นายวรวัสส์ วัสสานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้เอกชนดำเนินงานในกิจการของรัฐ เปิดเผยว่า รูปแบบของการลงทุนจัดการที่พักริมทางนี้ เป็นแบบ PPP Net Cost ที่จะให้เอกชนเป็นผู้รับหน้าที่รับผิดชอบการบริหารจัดการที่พักริมทาง ในสายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ทั้งหมด ทั้งการบริหารจัดการร้านค้า ป้ายโฆษณา สถานีบริการน้ำมัน การก่อสร้าง การบำรุงรักษา การออกแบบลงทุน ส่วนหน่วยงานของภาครัฐ จะมีหน้าที่ รับผิดชอบในการเวนคืนที่ดินเท่านั้น
ทั้งนี้ การเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อเป็นการลดภาระการลงทุนของภาครัฐ ยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการ ลดความเสี่ยงทางธุรกิจ เพราะภาคเอกชนจะมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจมากกว่าภาครัฐ พร้อมทั้งสนับสนุนนโยบายที่จะให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนกับภาครัฐ เบื้องต้น ได้มีการกำหนดแนวทางผลตอบแทน ที่ภาคเอกชนต้องจ่ายให้กับภาครัฐ ไว้ 4 รูปแบบ ประกอบด้วย แบบจ่ายผลตอบแทนรายปี โดยรัฐจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขในการปรับขึ้นผลตอบแทนตามความเหมาะสม แบบจ่ายผลตอบแทนจากส่วนแบ่งรายได้ โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่เอกชนได้รับ แบบจ่ายผลตอบแทนรายปีและส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐ ซึ่งจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐได้มีการกำหนดไว้ ตามสัดส่วนที่เหมาะสม และแบบจ่ายผลตอบแทนรายปีหรือส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐ ซึ่งรัฐจะเป็นผู้กำหนดเองว่าจัดเก็บแบบไหน ตามผลตอบแทนที่มากกว่าโดยได้มีการแจกแบบสอบถามความคิดเห็น ที่ประกอบด้วย ความน่าสนใจของโครงการ เกี่ยวกับความเหมาะสมในทำเลที่ตั้ง ที่พักริมทางทั้งแบบที่พักริมทางขนาดเล็ก (Rest Area) สถานที่บริการทางหลวงขนาดกลาง (Service Area) และ ศูนย์บริการทางหลวงขนาดใหญ่ (Service Center) แนวทางในการดำเนินธุรกิจ เกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะมีขึ้นในแต่ละจุด ตามความเหมาะสมของพื้นที่ รูปแบบเงื่อนไขการลงทุน เกี่ยวกับระยะเวลาสัญญา การก่อสร้าง และระยะเวลาสัมปทานที่เหมาะสม รวมทั้งรูปแบบการคิดผลตอบแทนที่ภาคเอกชนต้องจ่ายให้กับภาครัฐ ซึ่งแบบสอบถามนี้ ได้ให้ภาคเอกชนที่จะร่วมลงทุนและบริหารจัดการที่พักริมทาง สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ได้แสดงความคิด ก่อนนำไปพิจารณาปรับปรุงอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม