การน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาทำกิจกรรมเพื่อสังคม นักศึกษาจากหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย (ปนป.) สถาบันพระปกเกล้า ได้เปิดโครงการสร้างศักยภาพครูต้นแบบในการใช้เสียงสะท้อน เสียงสว่างนำทาง เพื่อการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสายตา ที่มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์
ผศ.นพ.ม.ล. ทยา กิติยากร ประธานโครงการฯ และนักศึกษา ปนป. เปิดเผยว่า จากพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2523 องค์ที่ว่า
"การสร้างสรรค์ประโยชน์ต่างๆ ได้เกิดขึ้นนั้น จะต้องทำเพื่อผู้อื่นและส่วนรวม นอกจากตนเองด้วย ยิ่งทำได้กว้างขวางได้เท่าใดก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น เพราะประโยชน์ที่ถูกต้องแท้จริงในโลก มีสองประการคู่กันเสมอ คือ ประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม คนที่มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัว จัดว่าเป็นคนไม่สามารถแท้ ซึ่งใครๆ ก็ตามจะไม่สรรเสริญ ขอให้พยายามทำตัวทำงานให้ดังที่กล่าว ผลดีที่ทุกคนมุ่งประสงค์ จะเกิดแก่ชาติบ้านเมืองของเราได้มากมายเกิดกว่าที่คาดคิด"
ผศ.นพ.ม.ล. ทยา เปิดเผยว่า โครงการศักยภาพครูต้นแบบในการใช้เสียงสะท้อน เป็นการสอนใช้เสียงที่สร้างขึ้นเอง เพื่อเรียนรู้สิ่งแวดล้อม คล้ายกับค้างคาวหรือปลาโลมา ที่จะส่งเสียงของตัวเองออกไป เมื่อเสียงไปกระทบกับวัตถุ เสียงก็จะสะท้อนกลับ โดยวิธีนี้จะช่วยผู้ให้พิการทางสายตาสามารถเดินทางได้ง่ายขึ้น โดยมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่าผู้ที่ใช้เสียงสะท้อนแบบนี้ จะใช้สมองด้านหลังศีรษะ มาวิเคราะห์เสียงให้เกิดภาพ
โดยการสาธิตในวันนี้มีวิทยากรจาก World access for the Blind ซึ่งเป็นองค์กรสอนคนตาบอดระดับโลกมาสาธิตวิธีการใช้เสียงสะท้อนโดยจะการเปล่งเสียงออกมา แล้วยกกระดานไม้ขึ้นมาบังหน้า เสียงที่ออกมาแบบไม่มีกระดานไม้มาบังหน้า จะแตกต่างกับเสียงที่มีกระดานไม้มาบังหน้า โดยหากมีกระดานไม้บังหน้า เสียงจะอู้และสะท้อนกลับ
ด้านนายขรรค์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิฯ แห่งนี้ให้ความช่วยเหลือคนพิการทางสายตาเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ด้วยการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยมิได้หวังผลตอบแทน และน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางในการทำงาน คือองค์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2505 ที่ว่า
"การสังคมสงเคราะห์นั้น มีความหมายกว้างขวางมาก กินความถึงการดำเนินการทุกอย่างที่จะช่วยเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ หรือกลุ่มชนที่รวมกันเป็นสังคม เป็นชาติ และผู้ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ให้มีความสุข ทั้งทางกายและจิตใจ ให้ได้มีปัจจัยอันตำเป็นแก่การครองชีพ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ได้รับการศึกษา อบรม ตามสมควร ตลอดจนมีความรู้ที่จะนำมาเลี้ยงชีพโดยสุจริต เพื่อความเรียบร้อย และความเป็นปึกแผ่นของสังคม"
...
ผสข.สมจิตร์ พูลสุข