ประกาศ คสช.3ฉบับ ตั้งกรรมการสรรหาป.ป.ช.ประจำจังหวัด/ ให้เจ้าหน้าที่รัฐไปช่วยปฏิบัติงาน/ตั้งกรรมการแก้ปัญหาชายฝั่งทะเล

27 มิถุนายน 2557, 21:29น.


คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 72 /2557  เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  เพื่อให้การดำเนินการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในส่วนของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงสมควรแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ดังต่อไปนี้   ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในมาตรา 103/12 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 103/12 ในการแต่งตั้งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด ให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่งมีจำนวนห้าคน ทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด ประกอบด้วยบุคคลต่อไปนี้   (1) รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย  (2) อัยการจังหวัด  (3) ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (4) ผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด (5) รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ฝ่ายทหาร)  ในกรณีที่มีกรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่งไม่ครบจำนวน ให้ดำเนินการไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด ให้รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานกรรมการสรรหา ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา” ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในมาตรา 103/18 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 103/18 ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ในเขตจังหวัดดังนี้  (1) ส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยประสานความร่วมมือกับประชาชนและส่วนราชการเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนในทุกระดับได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการทุจริต โดยดำเนินการเพื่อการป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งดำเนินการให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลในทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  (2) พิจารณาเสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (3) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย กรณีตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดหรือผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด มีอำนาจลงนามในหนังสือเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ได้”  ข้อ 3 การสรรหา คัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดที่ได้ดำเนินการไปแล้วเป็นอันใช้ได้ ส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการคัดเลือกและแต่งตั้งของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ชะลอไว้ก่อนจนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น



+++ขณะที่ คสช. ประกาศ ฉบับที่ 73/2557  เรื่อง การให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไปช่วยปฏิบัติงาน  ในการแก้ไขปัญหาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและความมั่นคงของชาติ รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม  จำเป็นต้องนำความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐมาร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศดังต่อไปนี้



 ข้อ 1ในประกาศฉบับนี้ “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ          “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งสังกัดหรือดำรงตำแหน่งในหน่วยงานของรัฐ และรวมถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้  ข้อ 2ในกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรีมีคำขอไปยังหน่วยงานของรัฐเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดไปช่วยปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรีไม่ว่าจะเป็นการช่วยปฏิบัติงานเต็มเวลา บางเวลา หรือนอกเวลาก็ตามให้หน่วยงานของรัฐให้ความร่วมมือและถือว่าการไปช่วยปฏิบัติงานนั้นเป็นการปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานตามหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น  ในกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ คำสั่ง ประมวลจริยธรรม หรือมติคณะรัฐมนตรีใด กำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม หรือกำหนดเงื่อนไขหรือข้อห้าม อันจะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจมาปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่งได้ มิให้นำบทบัญญัติหรือมตินั้นมาใช้บังคับกับผู้ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรีมีคำขอตามวรรคหนึ่งและได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องนั้น



+++นอกจากนี้ คสช. ออกประกาศฉบับที่76/2557เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อให้การพัฒนาและแก้ปัญหาในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกรวมถึงการแก้ไขปัญหามาบตาพุด เป็นไปอย่างเป็นระบบ มีเอกภาพ และบังเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างมีเอกภาพ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยให้รองหัวหน้า คสช.และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประธานกรรมการ มีกรรมการประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลัง,ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์,ปลัดกระทรวงคมนาคม,ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,ปลัดกระทรวงพลังงาน,ปลัดกระทรวงมหาดไทย,ปลัดกระทรวงแรงงาน,ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี,ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ,ปลัดกระทรวงสาธารณสุข,ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม,ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ,ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย,เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและให้รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ รวมถึงเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ          ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่เสนอแนะแนวทาง และมาตรการในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก การแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างยั่งยืน รวมถึงกำกับดูแล ประสานงาน และเร่งรัดติดตามการดำเนินงานของศูนย์ราชการ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและแก้ปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงการเชิญผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนมาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือให้ข้อมูล รวมถึงเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา และสามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือและปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม เพื่อดำเนินการตามคณะกรรมการดังกล่าวมอบหมาย รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ คสช.หรือหัวหน้า คสช.มอบหมาย 

ข่าวทั้งหมด

X