นายปีเตอร์ นิวมานน์ หนึ่งในคณะผู้ทำวิจัยของศูนย์ศึกษาแนวคิดหัวรุนแรงและความรุนแรงทางการเมือง มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ กรุงลอนดอน อังกฤษระบุว่า เรือนจำในยุโรปคือแหล่งบ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรงให้กับกลุ่มนักรบจีฮัด โดยนักโทษคดีอาญาบางรายมองเรื่องการใช้ความรุนแรงว่าเป็นการแก้แค้นสังคมอีกรูปแบบหนึ่งที่ลงโทษพวกเขาด้วยการกักขัง ที่สำคัญคือคนกลุ่มนี้คุ้นเคยกับเรื่องการใช้อาวุธหรือการหาเงินด้วยวิธีการผิดกฏหมายเช่นการลักทรัพย์ ชิงและปล้นทรัพย์
จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 57 เคยถูกขังมาก่อนกลายเป็นคนหัวรุนแรงในเวลาต่อมา และร้อยละ 27 ของผู้ต้องขังกลายเป็นคนหัวรุนแรงขณะถูกขังในเรือนจำ ที่ผ่านมากลุ่มนักรบจีฮัดและกลุ่มผู้เคยต้องโทษคดีอาญารับสมัครคนจากกลุ่มเดียวกันเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มฯ โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือการสื่อสารกัน ผลการวิจัยเรื่องนี้ทำการภูมิหลังกลุ่มนักรบจีฮัดชาวยุโรป 79 คนจากเบลเยียม สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ที่ถูกกลุ่มนักรบจีฮัดเกณฑ์เข้าร่วมสมาชิกนับแต่ปี 2554 ระบุว่าการก่อเกิดกลุ่มรัฐอิสลาม(ไอเอส)ส่งผลให้มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นระหว่างกลุ่มอดีตนักโทษคดีอาญากับกลุ่มก่อการร้าย
แทนที่จะเล็งไปที่มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนศาสนา กลุ่มไอเอสกลับมุ่งเป้ายังกลุ่มคนในย่านชุมชนแออัด เรือนจำและกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสมากที่สุดในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยต้องคดีอาญาเป็นเป้าหมายที่พวกเขาจะชักจูงเข้าร่วมเป็นสมาชิก ผลวิจัยระบุว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีชาวยุโรปตะวันตกราว 5,000 คนเดินทางไปยังตะวันออกกลางเพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มนักรบจีอัด เช่นกลุ่มไอเอสและกลุ่มฟาเตห์ อัลชาม หรืออดีตกลุ่มอัลกออิดะห์ในซีเรีย