ในวันนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญ และงานในลำดับต่อไปของ กรธ. คือการเร่งทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จตามกรอบเวลา โดย 2 ฉบับแรก คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมือง ที่จะต้องเสร็จสิ้นในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ ที่ะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาทันที ซึ่งนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. กล่าวว่า ก่อนยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 จังหวัด คือที่อุบลราชธานี ชลบุรี เชียงราย และสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะนำข้อเสนอของ กกต. มาเป็นที่ตั้งหรืออาจจะนำประเด็นในข้อกฎหมายต่างๆ มาสอบถามว่ามีความเห็นอย่างไรด้วย
ส่วนที่รัฐสภาในวันนี้ยังมีการประชุม กรธ. และ สนช.
ในวันนี้ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นช่วงบ่ายจะหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเกาหลี และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง
สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจคือ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเสนอมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยจะมีการจ่ายเงินชดเชยนอกเหนือจากการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ปกติของกระทรวงมหาดไทย เบื้องต้นกรอบวงเงินประมาณ 1,900 ล้านบาท หรือประมาณ 3,000 บาท/ครัวเรือน นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะขยายเวลาชำระหนี้ออกไปประมาณ 6 เดือนในช่วงน้ำท่วม และปล่อยกู้ปลอดดอกเบี้ยระยะ 1 ปีให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมปีการผลิต 59/60 รายละไม่เกิน 50,000 ล้านบาท วงเงินรวม 100 ล้านบาท
เช่นเดียวกับธนาคารออมสินที่ออกมาตรการด้านสินเชื่อภายใต้เงื่อนไขผ่อนปรนเพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับลูกค้าและประชาชนทั่วไป โดยให้สิทธิในวงเงินครอบครัวละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี ไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 ปี (ดอกเบี้ย 0% ในปีแรก) หลังจากนั้น ปีที่ 2-5 คิดอัตราดอกเบี้ยตามปกติคือ 1% ต่อเดือน โดยติดต่อได้ที่สาขาธนาคารออมสินทุกแห่งทั่วประเทศได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ส่วนการประชุมประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 2 โดยมีพระประมุข ประมุข หัวหน้ารัฐบาล และผู้แทนจาก 33 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย เข้าร่วมการประชุมที่วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศเมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญไปสู่ความร่วมมือและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภูมิภาคเราต่อไป เพื่อเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาคมเอเชีย ที่แท้จริงในอนาคต เนื่องจากเอเชียมีประชากรร้อยละ 60 ของประชากรโลก สัดส่วนจีดีพี 1 ใน 3 ของโลก ทุนสำรองร้อยละ 60 ของเงินทุนสำรองของโลก และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกว่าร้อยละ 5 จึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศสมาชิกเอซีดี จะต้องร่วมกันกำหนดทิศทางและเป้าหมายของความร่วมมือที่ชัดเจน
จากนั้นในช่วงค่ำ พล.อ.ประยุทธ์ แถลงผลการประชุมว่า ผู้นำเอซีดีเห็นพ้องที่กำหนดทิศทางความร่วมมือที่ชัดเจน ที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และครอบคลุมของเอเชีย และการสร้างประชาคมเอเชียในอนาคต โดยมีประเด็นสำคัญคือ รับรองวิสัยทัศน์ความร่วมมือเอเชีย ค.ศ. 2030 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการสร้างประชาคมเอเชียในอนาคตประชุมอีก 14 ปีข้างหน้า โดยเน้นการพัฒนาความร่วมมือใน 6 เสาหลัก ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกัน กำหนดแผนการทำงาน รวมทั้งกรอบเวลาต่อไป โดยจะรายงานผลในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรีเอซีดีในช่วงเดือนกันยายนปีหน้า ที่ประชุมเห็นพ้องกับการจัดตั้งสำนักเลขาธิการเอซีดีขึ้นที่คูเวต เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมการดำเนินงานของเอซีดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก การจัดประชุมและกิจกรรมต่างๆ ในรอบปี
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเอซีดีครั้งนี้ ที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษคือการที่ พล.อ.ประยุทธ์ พบปะหารือ 3 ฝ่ายร่วมกับเจ้าชายคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน และนายอเดล อัล-จูเบอีร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งต่างเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ความสัมพันธ์ที่หยุดชะงักมากว่าสองทศวรรษ จะได้รับการฟื้นฟูเพื่อเริ่มศักราชใหม่ โดยมอบหมายคณะทำงานพิจารณาร่วมกันถึงแนวทางเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ โดยกระทรวงการต่างประเทศจะหารือกับสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย อย่างใกล้ชิดต่อไป
การมาเยือนประเทศไทยของรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี หลังจากรัฐบาลซาอุฯ ไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีมาร่วมประชุมและหารือกับรัฐบาลไทย สืบเนื่องจากคดีเพชรซาอุฯ และคดีอุ้มฆ่านายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุฯ
นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวบรรยายของนายแจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งประธานกลุ่มบริษัทอาลีบาบาในที่ประชุมเอซีดี ครั้งที่ 2 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขอบคุณและถือเป็นโอกาสของเอซีดีที่จะนำประสบการณ์ของนายหม่าไปขับเคลื่อนต่อไป และในวันนี้ นายหม่ายังมีกำหนดเข้าเยี่ยมคารวะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนชาวสวนยางพร้อมคณะประมาณ 30 คน จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เร่งช่วยเหลือชาวสวนยางที่โดนโกงค่ายางแผ่นนานกว่า 3 ปี คดีไม่คืบหน้า ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล
...