หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจดูสถานการณ์น้ำที่จ.พระนครศรีอยุธยาและชัยนาท พร้อมรับฟังผลกระทบจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมท้ายเขื่อนเจ้าพระยา นายกรัฐมนตรี ได้เห็นพื้นที่แล้วพบว่าน้ำท่วมเฉพาะนอกคันกั้นน้ำ ส่วนในคันกั้นน้ำยังทำนาอยู่ ต้องรอให้เก็บเกี่ยวหมดจึงจะปล่อยน้ำได้ และเห็นว่า มาตรการที่ทำอยู่ยังเป็นเชิงรับ จึงขอให้ปรับเป็นเชิงรุก รวมถึงต้องคาดการณ์สภาพน้ำล่วงหน้าและแจ้งให้เกษตรกรทราบเพื่อเตรียมการเพาะปลูกก่อนถึงฤดูแล้งหน้า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่รับน้ำหลากเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 11 ต.ค. และให้กรมชลประทานหาพื้นที่แก้มลิงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำหลากมากขึ้น และเก็บน้ำไว้ใช้ได้ช่วงหน้าแล้ง ซึ่งอาจใช้วิธีจัดซื้อ รวมทั้งให้กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงมหาดไทย จัดทำชุดความรู้สำหรับประชาชนและเกษตรกรเพื่อรับมือการเกิดอุทกภัย
ทั้งนี้ ขอให้กรมชลประทาน เฝ้าระวังปริมาณน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะนี้ปล่อยน้ำเขื่อนนี้เพิ่มจากเดิมวันละ 40 ล้านลบ.ม. เป็นวันละ 50 ล้านลบ.ม. เพราะวันนี้ มีน้ำไหลเข้ามากถึง 55 ล้านลบ.ม. ซึ่งปัจจุบัน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำใช้การได้ 850 ล้านลบ.ม. เหลืออีก 107 ล้านลบ.ม. จะเต็มเขื่อน ทั้งนี้ผลจากการปล่อยน้ำดังกล่าวทำให้น้ำท้ายเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระบายเป็น 570 ลบ.ม.ต่อวินาที ยังไม่เกินค่าวิกฤติที่ 600 ลบ.ม.ต่อวินาที และระดับน้ำที่อ.ท่าเรือ สูงขึ้น 0.30 เมตร ยังไม่ท่วมตลิ่ง รวมถึงน้ำไม่ไหลย้อนไปดันน้ำที่อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ให้สูงขึ้น ขณะที่มีปริมาณน้ำที่อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มเป็น 1,800 ลบ.ม.ต่อวินาที ยังไม่เกินค่าวิกฤติ 3,800 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งไม่มีผลต่อกรุงเทพฯและปริมณฑล
แฟ้มภาพ