การลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อตรวจเยี่ยมผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมตลอดแนวลุ่มน้ำเจ้าพระยาและรับฟังและติดตามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ที่วัดโบสถ์ล่าง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากนั้นนายกรัฐมนตรี จะมอบถุงยังชีพให้ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง จำนวน 500 ชุด พร้อมลงเรือตรวจสถานการณ์น้ำในแม่น้ำน้อย อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ไม่ได้มาในวันนี้แต่หัวใจก็อยู่ที่ประชาชน พร้อมระบุว่าต้องเตรียมความพร้อมในการการแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อิทธิพลลานิญญ่า รัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการการเยียวยาสำหรับเกษตรที่ได้รับความเดือดร้อน แก้ปัญหาในระยะยาว ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องปรับตัวในเพาะปลูกเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้เกิดปัญหาเช่นเดิมคือการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร และเมื่อมีน้ำไม่เพียงพอก็จะเกิดความขัดแย้งกัน ซึ่งเกษตรกรต้องนำมาตรการเกษตรแปลงใหญ่มาใช้ ให้เกษตรกรรวมตัวกัน ส่งเสริมตั้งแต่ต้นทุนการผลิต ซึ่งเรื่องการบริหารจัดการน้ำต้องมองภาพรวมทั้งประเทศ ไม่ใข่เพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยบางพื้นที่ต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม พร้อมขอให้ทุกคนรักษาสัญญาเรื่องในการร่วมกันบริหารจัดการน้ำ และไม่ขัดแย้งกันในการทำการเกษตร ส่วนมาตรการการช่วยเหลือจะช่วยตามจริง และส่วนที่ปลูกไปแล้วเสียหายก็จะชดเชยเป็นพิเศษ
นายกรัฐมนตรี ยืนยันคืนประชาธิปไตยอย่างแน่นอน ขอให้ประชาชนอดทนเพื่อประเทศชาติ นายกรัฐมนตรียืนยันด้วยว่าการลงพื้นที่วันนี้ไม่ใช่การหาเสียงเพราะไม่ต้องการสืบทอดทอดอำนาจ
นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบจำนวน 21,854 ครัวเรือน รวม 7 อำเภอ ได้แก่ เสนา บางบาล ผักไห่ พระนครศรีอยุธยา บางปะอิน และบางประหัน ส่วนพื้นที่การเกษตร พบว่ามีนาข้าวที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว 119,979 ไร่ โดยแผนการระบายน้ำหลากจะใช้แก้มลิงธรรมชาตินำเข้าพื้นที่ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งบางบาล และทุ่งเจ้าเจ็ดที่สามารถรับน้ำได้ถึง 1,150 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาวในพื้นที่ 6 อำเภอในฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตะวันตก คือการเปลี่ยนระยะเวลาในการเพาะปลูกให้ทำนา 2 ครั้ง โดยรอบแรก 15 ธันวาคม ถึง 15 มกราคม และเก็บเกี่ยว 15 มีนาคม ถึง 15 เมษายน ส่วนรอบสองจะเริ่มทำนา 16 เมษายน ถึง 15 พฤษภาคม และเก็บเกี่ยว 15 สิงหาคม ถึง 15 กันยายน
ขณะที่ สถานการณ์น้ำล่าสุดในการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา มีการระบายน้ำเพิ่มเป็น 1,644 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที เพื่อรองรับน้ำฝนที่ตกเหนือเขื่อนที่จะตกหนักในช่วงสัปดาห์นี้ ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนยังอยู่ในเกณฑ์มาก ยังคงต้องระบายน้ำในอัตราวันละ 40 ล้าน ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่จะสามารถเก็บกักน้ำได้เต็มอ่าง ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้
ส่วนการระบายน้ำเข้าทุ่งหรือแก้มลิง ในพื้นที่ภาคกลางตอนนี้ ยังรอเกษตรกรบางพื้นที่เก็บเกี่ยวอยู่และจะแล้วเสร็จในสัปดาห์หน้า ก็จะมาพิจารณาว่าทุ่งไหนเหมาะกับการระบายน้ำลงพื้นที่ ตามความเหมาะสมและสถานการณ์
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและปัญหาที่เขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาทต่อไป
ผู้สื่อข่าว: ปิยะธิดา เพชรดี