สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ พร้อมด้วยบริษัท กูเกิ้ล ประเทศไทย ในฐานะเจ้าของเพลย์สโตร์ ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นระบบแอนดรอยด์ เข้าหารือร่วมกัน เพื่อหามาตรการป้องกันการชำระสินค้าและบริการ ที่ตัดเงินร่วมกับรอบบิลค่าโทรศัพท์ (Carrier Billing) น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ร้องเรียนกรณีบิลช็อคมากถึง13ราย มูลค่าความเสียหาย1.1ล้านบาท และก่อนหน้านี้เอไอเอสก็ได้เยียวยาลูกค้าไปแล้วถึง13,000ราย จากการประชุมในวันนี้ กสทช. ให้เอไอเอสกำหนดกรอบวงเงิน(Credit limit) ที่1,000บ. และต้องมีการแจ้งเตือนทางเอสเอ็มเอสและอีเมลทุกครั้งที่ซื้อสินค้าและบริการ แต่ประเด็นที่ตามมาคือ ในการซื้อสินค้าภายในแอพที่เรียกว่า App Purchase ถือเป็นการทำธุรกรรมส่วนบุคคล ซึ่งเอไอเอสไม่สามารถทราบได้ เพราะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชำระเงินให้เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องเชิญนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นมาหารือแนวทางการควบคุมร่วมกัน เช่น การให้ใส่พาสเวิร์ดทุกครั้งที่ซื้อ
ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. เปิดเผยว่า ในวันพุธที่2กรกฎาคม กสทช.จะเชิญบริษัท ไลน์ฯ และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือมาประชุมอีกครั้ง เพื่อพูดคุยร่วมกันทั้งวงเล็กและวงรวมโดยไม่ให้กระทบความลับทางธุรกิจ ส่วนในข้อตกลงต่างๆตอนนี้ยังไม่ยืนยันว่าจะต้องทำเป็นสัญญาโทรคมนาคมเลยหรือไม่ เนื่องจากยังมีรายละเอียดอีกหลายประการ และมีนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นอีกจำนวนมาก เลขาธิการ กสทช. ยืนยันว่า ในกรณีที่เกิดขึ้นทั้งหมด เอไอเอสถือว่าไม่ได้มีความผิด อีกทั้งยังทำถูกต้องทั้งขั้นตอนการเยียวยายกเว้นค่าบริการ รวมถึงเร่งกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ สำหรับบริการตัดเงินร่วมกับรอบบิลค่าโทรศัพท์เมื่อชำระสินค้าและบริการ(Carrier Billing) ปัจจุบันยังคงมีให้บริการเฉพาะของค่ายเอไอเอสสำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์(Google Play Carrier Billing)เท่านั้น ส่วนทรูมูฟเอชและดีแทค ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาและเจรจาธุรกิจ โดยยังไม่มีให้บริการแก่ลูกค้า
อภิสุข