ข้อถกเถียงกรณีที่รัฐสภาชุดใหม่ไม่สามารถเลือกนายกฯได้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักความเหมาะสม เนื่องจากต้องใช้งบประมาณอีก ซึ่งการยุบสภาถือเป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะเสนอให้ยุบได้ ส่วนการใช้มาตรา 44 เป็นเรื่องของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่เกี่ยวข้องกัน หากอยู่แบบในสภาพที่มีแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา( สว.) แต่ขาดการตั้งรัฐบาลเพียงอย่างเดียวก็ต้องยุบสภา และคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อที่จะให้ประชาชนเลือกผู้แทนที่มีเสียงข้างมากเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล และต่อจากนี้ไปคำถามใดที่เป็นคำถามสมมติหรือคำถามที่เกิดจากจินตนาการ จะไม่ตอบ แม้จะอยากรู้ในเชิงวิชาการ ซึ่งต่อไปนี้จะดูกาลเทศะในการตอบคำถามให้มากยิ่งขึ้น
นายวิษณุ กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันนี้จะรายงานขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีให้ครม.ทราบ เพราะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)แก้ไขตามกรอบจะเสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าจะส่งมาให้พิจารณาในเร็วๆนี้ จะครบกำหนดในวันที่ 12 ตุลาคม 2559 รองนายกฯ ระบุว่า ขั้นตอนจะมีการโหวต 3 ครั้งคือโหวตครั้งที่ 1 เป็นการเลือกจากบัญชี พรรคการเมือง ๆละ 3 ชื่อ โหวตครั้งที่ 2 คือมีคนเสนอญัตติให้เอาชื่อนอกบัญชีได้ แต่ต้องเข้าชื่อกันได้เกินกึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียง ซึ่งเป็นการเข้าชื่อเท่านั้น ไม่ต้องโหวต หากเข้าชื่อไม่ได้ก็ไม่สามารถเอาคนนอกได้ หากเข้าชื่อได้จะนำไปสู่การโหวต ซึ่งการโหวตนี้เป็นการยอมรับจะเอาคนนอก ที่จะต้องได้คะแนนเสียง 2 ใน 3 คือ 501 เสียงเมื่อยอมรับให้เอาคนนอกได้ก็เสนอว่าจะเอาใคร แล้วต้องโหวตให้ได้ครึ่งหนึ่งคือ 376 เสียง ถือเป็นการโหวตครั้งที่ 3 หากยังโหวตไม่ได้ก็โหวตไปเรื่อย ๆ จนครบเวลาที่กำหนด หากไม่ได้ภายใน 8 เดือนก็ต้องยุบสภา
ส่วนการตั้งศาลปราบการทุจริตคอรัปชั่น นายวิษณุ กล่าวว่า ศาลนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินคดีและพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับทุจริตและประพฤติไม่ชอบเท่านั้น ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้จะส่งไปที่ศาลปราบคอรัปชั่น และจะมีการจัดตั้งศาลนี้ขึ้นมาจะทำให้พิจารณาคดีได้เร็วขึ้น เนื่องจากไม่ต้องต่อคิวคดีจากศาลอื่น และเป็นการพิจารณาในระบบไต่สวน รวมทั้งไม่ต้องมาสืบพยานโดยใช้เวลานานอีกด้วย
ผู้สื่อข่าว:อรพรรณ สวัสดีผล