สถานการณ์ความรุนแรงในอิรัก นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า จากสถานการณ์ความรุนแรงในอิรักส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากอิรักเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันในระดับ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้น การที่ปริมาณน้ำมันหายไปจากตลาดโลก ทำให้มีแนวโน้มว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นอีก หากสถานการณ์บานปลาย จึงเป็นความเสี่ยงของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันระดับสูง โดยการดูแลราคาน้ำมันนั้น ไม่เห็นด้วยหากรัฐจะตรึงราคาน้ำมันนานเกินไป ควรจะตรึงระยะสั้นเท่านั้น ที่ผ่านมารัฐบาลใช้พลังงานมาเป็นนโยบายประชานิยม การนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลและแอลพีจี ไม่ได้ทำให้ประเทศสูญเสียเงินน้อยลง แต่เป็นการเพิ่มภาระให้กับประเทศมากขึ้น
ส่วนกลุ่มผู้สนับสนุนยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ มองว่าควรคำนึงถึงความเหมาะสมเช่นกัน เนื่องจากที่ผ่านมาการจัดตั้งกองทุนฯ ก็เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน โดยนำเงินจากกองทุนฯ อุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่หากไม่มีกองทุนฯ จะทำให้ราคาน้ำมันดังกล่าวใกล้เคียงกัน อาจทำให้ผู้บริโภคไม่สนใจแก๊สโซฮอล์ เพราะมีอัตราการสิ้นเปลืองมากกว่า สุดท้ายผู้บริโภคก็จะเลือกใช้แต่เบนซินเท่านั้น ส่งผลให้ธุรกิจเอทานอลต้องล้มละลาย เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน โดยสรุปแล้วเห็นว่ากองทุนน้ำมันควรมีอยู่ต่อ และทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพน้ำมันและอุดหนุนพลังงานทดแทนเฉพาะที่จำเป็น ส่วนราคาเอ็นจีวี/แอลพีจีควรขยับขึ้น ขณะที่ดีเซลควรจะปรับภาษี
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ตลาดดูไบขยับสูงขึ้นอยู่ที่ 110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งสูงขึ้นจากช่วงก่อนที่อยู่ระดับ 103 - 105 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลต่อน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับขึ้นได้ ส่วนการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน นายไพรินทร์ กล่าวว่า ถือเป็นแนวคิดที่ดี เพราะที่ผ่านมามีการบิดเบือนกลไกราคาพลังงานอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนต้องยอมรับเมื่อมีการปฏิรูปราคาพลังงานมีทั้งได้และเสีย ต่างจากการทำประชานิยมที่มีการอุดหนุนราคาพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ใช้พลังงานอย่างไม่รู้คุณค่า