ในวันพรุ่งนี้ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร(กทม.) มีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสวนลุมพินี โดยจะเข้าจับตัวเงินตัวทองหรือ ที่เบื้องต้นมีมาก กว่า 400 ตัว ไปไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ชลบุรี เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ที่เข้าไปออกกำลังกาย นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้นางเตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักสัตว์ป่า ประสานไปยังสำนักสิ่งแวดล้อมกทม.เพื่อร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยกทม.จะเข้าไปจับตัวเหี้ยโดยพละการไม่ได้ เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จะต้องแจ้งให้กรมอุทยานฯรับทราบและร่วมดำเนินการด้วย
เบื้องต้น ได้ประสานทำความเข้าใจไปทางกทม.แล้วว่า ความจริงแล้ว ตัวเหี้ยนั้นไม่ใช่สัตว์อันตราย ที่จะไปจู่โจมทำร้ายใครก่อน ยกเว้นว่าทำให้มันตกใจ พื้นที่ เช่น สวนลุม หรือบริเวณ สวนสัตว์ดุสิต เป็นพื้นที่เดิมที่มีตัวเหี้ยอาศัยมาก่อน แต่เวลาต่อมา คนไปรุกรานสร้างสิ่งก่อสร้างในที่อยู่ของมัน แต่สัตว์พวกนี้มีการปรับตัวได้ดี จึงอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้ เบื้องต้น ทางกทม.เข้าใจเรื่องนี้ดี แต่เมื่อได้รับการร้องเรียนจากประชาชนก็ต้องหาวิธีจัดการ เพื่อไม่ให้เพิ่มประชากรตัวเงินตัวทองให้มากไปกว่านี้ ซึ่ง ในวันที่ 20 ก.ย. ที่จะเข้าไปจัดการนั้น อาจจะจับแค่ 40 ตัวเท่านั้น และใช้วิธี ตามหาไข่ ที่ฝังอยู่ตามที่ต่างๆ แล้วเอาไปทำลาย เป็นการควบคุมประชากรอย่างหนึ่ง เนื่องจากการจับมาทำหมันมีค่าใช้จ่ายสูงตัวละเกือบ 1 พันบาท ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก
ทั้งนี้ ตัวเงินตัวทอง จะวางไข่ครั้งละ 40-60 ฟอง ใช้เวลาฟักประมาณ 7-9 เดือน ก่อนหน้านี้ กรมอุทยานฯ เคยเสนอให้นำตัวเหี้ยออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อให้สามารถเพาะพันธุ์ เอาหนังไปขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ข้อเสนอดังกล่าว มีผู้ไม่เห็นด้วยหลายฝ่าย ปัจจุบันปริมาณตัวเงินตัวทองในธรรมชาติจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผิดกับที่ประเทศ อินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย ที่สามารถเพาะเลี้ยงและส่งออกได้ ปัจจุบัน ทั้ง 2 ประเทศ ส่งออกปีละ 1 แสนตัว ทำให้ปัจจุบันนี้มีปริมาณตัวเงินตัวทองในธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว