การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในวันนี้มีการพิจารณาข้อเสนอแนะในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นายเสรี โดยสุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ชี้แจงว่า ข้อเสนอให้กระทรวงมหาดไทยและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามามีบทบาทในการจัดการเลือกตั้ง ก็เพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และแก้ไขปัญหาเดิม โดยที่ กกต.ยังมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญเช่นเดิม
นายวันชัย สอนสิริ กรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เสนอให้การเลือกตั้งเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว และออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ตลอดจนติดตามตรวจสอบให้ดำเนินการอย่างสุจริตเที่ยงธรรม รวมถึงกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายทางคดีสามารถฟ้องร้องดำเนินคดี หากพบว่ามีการทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งหากมีการพิพากษาว่ามีความผิด ต้องมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ฟ้องร้องไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท ขณะเดียวกันเสนอให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง กำหนดโทษสำหรับผู้ไม่ไปใช้สิทธิ ส่วนการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้สมัครต้องยื่นแสดงการเสียภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปี นอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐสนับสนุนงบประมาณผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อช่วยภาระค่าใช้จ่าย โดยในเอกสารได้ข้อเสนอให้มีการตรากฎหมาย ห้ามผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เงินช่วยเหลือในพิธีมงคลตามประเพณี ในพื้นที่ของตนเอง แต่ไม่ได้ห้ามเข้าร่วมงาน พร้อมกันนี้คณะกรรมาธิการฯ ยังเสนอให้ขยายระยะการลงคะแนนเสียงตั้งแต่ 08.00-16.00น. และหากพบว่ามี ส.ส.กระทำการทุจริตให้ดำเนินการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต พร้อมโทษทางคดีจำคุกสูงสุด 10 โดยไม่รอลงอาญา และปรับสูงสุด 20 ล้านบาท ส่วนอายุการดำเนินคดีไม่เกิน 20 ปี
ผสข.ปิยะธิดา เพชรดี