ต่อต้านคอรัปชั่นแห่งชาติ/ครม., สนช., สปท. ส่งคำถามพ่วง

12 กันยายน 2559, 07:17น.


เมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานงานวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ 2559 และกล่าวปาฐกถาพิเศษ มาตรการจัดการการคอร์รัปชันของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ร่วมงาน และนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมงานด้วย  พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ทุจริตเป็นกับดักที่ทำให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ช้า เกิดความขัดแย้ง แตกแยก สังคมมีปัญหาไปทั้งหมด ต่างประเทศก็ไม่ยอมรับ ประเทศประสบปัญหานี้มานาน และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกล่าวด้วยว่าต่อไปจะไม่มีมาตรา 44 แล้ว การแก้ไขปัญหาต้องอยู่บนกฎหมายสากล และบนความร่วมมือของประชารัฐ



ในวันนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีปิดหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ประจำปีการศึกษา 2558-2559 ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ



นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ทำเนียบรัฐบาล



ในวันนี้ ยังมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. และเป็นวันครบกำหนดที่คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.ต้องส่งเอกสารและข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งคำถามพ่วงให้กับศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และนัดวันวินิจฉัยคดี



ส่วนการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศวันนี้มีวาระสำคัญ คือ รายงานข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และพรรคการเมือง



ส่วนเรื่องที่พรรคการเมืองคัดค้านข้อเสนอของ สปท.เรื่องการจัดทำบัญชีสมาชิกพรรค นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. เปิดเผยว่า กมธ.ได้ปรับแก้เนื้อหาในส่วนนี้แล้ว โดยระบุว่า พรรคใดไม่ต้องการจัดทำทะเบียนใหม่ ก็สามารถทำหนังสือยืนยันและรับรองรายชื่อสมาชิกพรรคทั้งหมดที่อยู่เดิม ว่ามีความถูกต้อง อย่างไรก็ตาม กฎหมายมาตรานี้มีขึ้น เนื่องจากพบว่ามีการแอบอ้างชื่อเป็นสมาชิกพรรค โดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม หรือไม่รู้ตัว บางคนเป็นสมาชิกพรรคซ้ำซ้อนกันหลายพรรค จึงต้องให้มีการยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคอีกครั้ง



ส่วนประเด็นตามเจตนารมณ์คำถามพ่วงประชามติ ที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ คือการระบุว่า “ในช่วง 5 ปีแรกของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภา” โดยคำว่า ต้องมาจากความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภา มีเจตนารมณ์ครอบคลุมทั้งการให้สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิทั้งออกเสียงและเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ในทุกขั้นตอน ซึ่งสอดคล้องกับมติที่ สปท.เคยเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ต่อ กรธ.ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้บุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก 3 บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา



และในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ในวันที่ 13 กันยายนนี้ จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นฉบับที่ 2 ในจำนวนร่างกฎหมาย 4 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จากที่ก่อนหน้านี้ ได้ส่งร่างพรบ.ว่าด้วยพรรคการเมืองไปให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาแล้ว



สำหรับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การกำหนดระดับความผิดฐานกระทำทุจริตไว้เป็น ”ใบเหลือง-ใบส้ม-ใบแดง-ใบดำ”



ใบเหลือง คือก่อนหรือในวันเลือกตั้ง เมื่อกกต. สืบสวน ไต่สวนแล้ว หรือพบเห็นการกระทำที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริต ก็ให้ยกเลิกการเลือกตั้ง และสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่ หรือนับคะแนนเลือกใหม่ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้ง รวมถึงในกรณีหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อว่าการเลือกตั้งนั้นไม่สุจริต สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้สั่งเลือกตั้งใหม่ได้



ใบส้ม คือ หลังวันเลือกตั้ง ตั้งแต่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้ากกต.พบว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับคะแนนอยู่ในลำดับที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัคร ให้กกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ และสั่งระงับสิทธิการรับสมัครของผู้นั้น หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำ หรือรู้เห็นการกระทำบุคคลอื่น จนเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นไม่สุจริต มีการนับคะแนนไม่ถูกต้อง ให้กกต.ระงับสิทธิสมัคร รับเลือกตั้งของผู้นั้นไว้ชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี โดยให้คำสั่งกกต.ถือเป็นที่สุด



ใบแดง เป็นกรณีหลังการประกาศผลการเลือกตั้ง หากพบว่าเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาพิจารณาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลนั้น โดยให้ยื่นต่อศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี และสั่งเลือกตั้งใหม่กรณีผู้นั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง พร้อมให้รับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้ง ทั้งค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษจำนวนร้อยละ 2 ของค่าใช้จ่ายจัดการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่ง ให้คืนเงินประจำตำแหน่ง ประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่ง



ใบดำ เป็นกรณีที่ให้โทษการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่ได้มีกำหนดระยะเวลารับโทษว่าจะนานกี่ปี เป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ทางการเมือง และกรรมการองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นส.ส. หรือส.ว ตามมาตรา 98 ,108 ของร่างรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 202(2) ของร่างรัฐธรรมนูญ กรรมการองค์กรอิสระ ตามมาตรา 217,203 (4)ของร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

ข่าวทั้งหมด

X