พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 28-29 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 5-8 กันยายน 2559
การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 28 และ 29 เป็นการประชุมระดับผู้นำที่ สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ได้รวบการประชุมสุดยอดอาเซียนทั้งสองครั้งรวมกัน ดังนั้น นอกจากการประชุมภายในอาเซียน (Plenary + Retreat) และการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ สมัชชารัฐสภาอาเซียน ผู้แทนเยาวชนอาเซียน และผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนแล้ว จะมีการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้นำภายนอกอาเซียนที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย อินเดีย และสหประชาชาติ และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ซึ่งจะมีผู้นำรัสเซียและนิวซีแลนด์ เข้าร่วมการประชุมด้วย นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังได้เชิญกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันกับผู้นำอาเซียนด้วย
สำหรับ หัวข้อหลักการประชุมอาเซียนปีนี้ คือ “Turning Vision into Reality for a Dynamic ASEAN Community” ซึ่ง สปป.ลาว ได้ให้ความสำคัญใน 8 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การดำเนินการตามวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2025 2) การลดช่องว่างการพัฒนา 3) การอำนวยความสะดวกด้านการค้า 4) การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 5) การส่งเสริมการท่องเที่ยว 6) การส่งเสริมความเชื่อมโยง 7) สภาวะการจ้างงานในอาเซียน 8) การเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่ออนุรักษ์ ปกป้องและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียน
ในส่วนของไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง การสร้างสภาพแวดล้อมที่มั่นคงปลอดภัย ประชาชนอยู่ดีกินดี ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะหยิบยกประเด็นการส่งเสริมให้ประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมที่เติบโตอย่างสมดุลใน 3 เสาความร่วมมือ ได้แก่ 1) ความสมดุลในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ระหว่างอุตสาหกรรมเดิม (old S curve) กับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ (new S curve) 2) การพัฒนาบุคลากรที่เน้นการเพิ่มศักยภาพเยาวชนและการเตรียมรับสังคมผู้สูงอายุ 3) การส่งเสริมการเชื่อมโยงในภูมิภาคและนอกภูมิภาค โดยที่รักษาสมดุลและเอกภาพของอาเซียนในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ตลอดจนการให้อาเซียนเป็นกรอบความร่วมมือและกลไกสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความรุ่งเรืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนจะร่วมลงนามในเอกสารสำคัญ 1 ฉบับ คือ ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความเป็นหนึ่งเดียวในการตอบโต้ภัยพิบัติทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค (ASEAN Declaration on One ASEAN, One Response: ASEAN Responding to Disasters as One in the Region and Outside the Region) และจะร่วมกันรับรองเอกสาร อีก 19 ฉบับ โดยในวันนี้จะเป็นการลงนามในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความเป็นหนึ่งเดียวในการตอบโต้ภัยพิบัติทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ตลอดจนพบหารือกับผู้แทนไทยในสมัชชา รัฐสภาอาเซียน ผู้แทนเยาวชนอาเซียน และสภาที่ปรึกษาธุรกิจ
..
ทำเนียบรัฐบาล
ภาพขณะประชุมผู้แทนไทยฯ