นักวิชาการระบุ เหตุฟ้าผ่าสัตว์ตายหลายร้อยเกิดจากกระแสไฟฟ้าไหลไปตามพื้น

05 กันยายน 2559, 10:46น.


 จากเหตุการณ์ที่เทือกเขาฮาร์แดงเกอร์วิดดา ประเทศนอร์เวย์ มีกวางเรนเดียร์ จำนวน 323 ตัว (ในจำนวนนี้เป็นลูกกวาง 70 ตัว) ตายเนื่องจากฟ้าผ่า เหตุเกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ  นักวิชาการ สำนักงานพัฒนาวิมยาศาสตร์ และเทคโนดลยีแห่งชาติ และผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก “บัญชา ธนบุญสมบัติ” อธิบายว่า เมื่อสายฟ้าฟาดลงที่จุดๆ หนึ่งท่ามกลางฝูงสัตว์ กระแสไฟฟ้าไหลกระจายไปตามพื้น (เรียกว่า ground current) โดยมีรูปแบบการกระจายออกไปคล้ายรากของต้นไม้ใหญ่ เรียกว่า Lichtenberg figure ซึ่งสัตว์แต่ละตัวสัมผัสพื้นมากกว่า 1 จุด เช่น กรณีสัตว์สี่เท้า อย่างกวาง วัว แพะ แกะ หากยืนก็จะสัมผัสพื้น 4 จุด ดังนั้น จึงเกิดแรงดันไฟฟ้าช่วงก้าว (step voltage) ขึ้นระหว่าง 2 จุดที่อยู่ห่างกัน ยิ่งห่างมาก แรงดันไฟฟ้ายิ่งมาก แรงดันไฟฟ้าช่วงก้าวนี้ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่ร่างกาย หากเข้าสู่หัวใจ ก็ทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ แต่ในกรณีนี้อาจเป็นไปได้ว่า มีสัตว์บางตัวยืนเบียดชิดกับเพื่อนที่อยู่ใกล้ๆ ทีนี้หาก เพื่อนโดนกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน ก็จะทำให้ตัวที่อยู่ชิดกันได้รับกระแสไฟฟ้าจากการสัมผัสด้วย และเป็นไปได้อีกเช่นกัน ว่าสัตว์ 2 ตัว หรือมากกว่าที่อยู่ใกล้ๆ กัน (ในระยะไม่เกินสัก 3 เมตร) ก็อาจเกิดกระแสไฟฟ้ากระโดดออกจากสัตว์ตัวหนึ่งไปยังตัวอื่นๆ เรียกว่า ไซด์แฟลช (side flash)



โดยสรุป : การที่สัตว์ตายเป็นจำนวนมาก เกิดจากกระแสไฟฟ้าไหลไปตามพื้น (ground current) เป็นหลัก ส่วนกลไกอื่นๆ เป็นเพียงตัวเสริม



....



บัญชา ธนบุญสมบัติ,ชมรมคนรักมวลเมฆ

ข่าวทั้งหมด

X